จากฝันที่ไม่เป็นจริงของชาว “บางระกำโมเดล” ถึงการจัดการน้ำแห่งชาติ
“วันนี้คนภายนอกมองว่าบางระกำโมเดลเดินหน้าแล้ว คนบางระกำสบายแล้ว จริงๆมีชาวบ้านอีกเยอะที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ… ถ้ารับฟังปัญหาจากผู้เดือดร้อนข้างล่างจริงๆนำไปเป็นนโยบาย จะตรงใจแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าอย่างที่เป็นอยู่อีก40 ปีข้างหน้าน้ำก็จะท่วมเหมือนเดิม แม้จะมีบางระกำโมเดล” ในสถานการณ์น้ำทะลักกรุงเทพฯ เสียงสะท้อนของชาวบ้านบางระกำในวันนี้น่ารับฟังขบคิดยิ่งนัก!
หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดศูนย์ปฏิบัติการ “บางระกำโมเดล” เมื่อ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้พิษณุโลกเป็นต้นแบบจังหวัดนำร่องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชิงบูรณาการ ชาวบ้านหลายคนสะท้อนว่าไม่เข้าใจความหมาย “บางระกำโมเดล” และไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้
แต่ที่แน่ๆในวันนี้ สิ่งที่ชาวบางระกำ จ.พิษณุโลก บอกผ่านศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา แม้ว่าน้ำท่วมหนักในพื้นที่จะคลี่คลายไปหลงร่องรอยเป็นน้ำท่วมทุ่งอยู่ในขณะนี้ แต่การให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระยะสั้นจากภาครัฐยังไปไม่ทั่วถึงผู้ประสบภัย และพวกเขาเรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่ ล่าสุดภาคประชาชนจับมือระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางให้บางระกำเป็นโมเดลแก้ไขปัญหาน้ำและสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้านได้จริง
พ่อเมืองสองแคว แจง “บางระกำโมเดล” ช่วยแค่ระยะสั้น ระยะยาวยังไม่คุย
ปรีชา เรืองจันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยกับ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าโครงการบางระกำโมเดล ว่าขณะนี้มีแผนเยียวยาระยะสั้นเฉพาะหน้าให้เข้าถึงพื้นที่โดยเร็วเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย ขณะที่แผนระยะยาวในการจัดการน้ำทั้งระบบยังไม่มีการดำเนินการ เพราะต้องมีหลายหน่วยงานหารือกัน ทั้งนี้เบื้องต้นพิษณุโลกมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 6 แสนไร่ 9 อำเภอ 80 ตำบล 652 หมู่บ้าน ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย อพยพ 153 ครัวเรือน โดยมีกำลังตำรวจ อส., อปพร.กว่า 5,000 นายลงพื้นที่ช่วยเหลือ มีการสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว 26 หลัง มีการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 95 ครั้ง สนับสนุนเรือแก่ผู้ประสพอุทกภัย 314 ลำ สนับสนุนถุงยังชีพ 23,357 ถุง
“ในส่วนของจังหวัด การแก้ไขน้ำท่วมตาม “บางระกำโมเดล” ที่ดำเนินการไปแล้วคือแจกถุงยังชีพครบทุกครัวเรือน แต่เราสนอแนะนโยบายเร่งด่วนให้ขยายวงเงินให้จังหวัดเพื่อแก้ปัญหาประชาชน ขณะที่กรม กระทรวง ควรดำเนินการต่อเนื่องบรรจุโครงการ Water way สร้างอ่างเก็บน้ำเข้าไปในแผนชลประทาน แก้ไขลุ่มน้ำทั้งระบบ ทำโครงการขนาดใหญ่เชื่อมหลายจังหวัด เตรียมเช่าพื้นที่เกษตรกรเพื่อทำแก้มลิงในพื้นที่ชุ่มน้ำและสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม” ผวจ.พิษณุโลก กล่าว
ชาวบ้านร้องผู้นำชุมชนหักค่าหัวคิวช่วยน้ำท่วม จุดอ่อนโมเดลรัฐบาล
เมื่อเร็วๆนี้ชาวบ้านหมู่ 5 หมู่ 6 ต.บางระกำ หมู่ 15 ต.บางระกำ และหมู่ 5,หมู่ 10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ นำโดยนายวิรัตน์ แดงซิว ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายธงชัย ทุ่งโพธิ์แดง นายอำเภอบางระกำ โดยอ้างว่ามีผู้นำท้องถิ่นเรียกเก็บเงินค่าชดเชยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านรายละ 4,000-30,000 บาท โดยชาวบ้านต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ชาวบ้านที่ได้ความเดือดร้อนจากน้ำท่วม รัฐบาลแจ้งว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 2,222 บาท แต่ถูกผู้นำชุมชนเรียกเก็บ จึงอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบผู้นำหมู่บ้านบางคนที่มีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านโดยอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้กับเกษตรอำเภอและเกษตรตำบล” วิรัตน์ กล่าว
ขณะที่ ชูชีพ วงศ์กันหา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวบ้านหมู่ 5 มีจำนวน 160 คน มีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายที่แจ้งกับอำเภอบางระกำ 4,700 ไร่ ส่วนตัวเลขที่แจ้งให้กับเกษตรตำบล 3,300 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งชาวบ้านแจ้งไว้จะถูกหักออกในอัตราส่วนร้อยละ 30 เนื่องจากเป็นข้าวเพิ่งตั้งท้องออกรวงสีเขียว ยังไม่แก่พอที่จะเก็บเกี่ยว อีกทั้งข้าวก็ไม่เสียหายทั้งหมด ทั้งนี้เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ระบุว่าต้องแจ้งยอดขอความช่วยเหลือให้ต่ำกว่าเป็นจริงในลักษณะหักหัวไร่ปลายนาเพื่อช่วยรัฐบาล และจำนวนไร่ที่หักออกไปนั้นก็ไม่มีใครได้รับประโยชน์ เพราะรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ธกส.
รัฐเร่งแผนบางระกำฯ ชาวบ้านตกสำรวจไม่ได้รับความช่วยเหลืออื้อ
ณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยขบวนกรองค์กรชุมชน จ.พิษณุโลก กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตกสำรวจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหลายร้อยคน สาเหตุเพราะทะเบียนบ้าน เลข 13 หลักของบัตรประชาน เดิมเป็นครอบครัวใหญ่ แต่เมื่อแยกครอบครัวไม่ได้แยกทะเบียนบ้าน เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็ได้รับชุดเดียว อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ยังพบผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ควรต้องดูแลเป็นพิเศษในเหตุภัยพิบัติเร่งด่วน เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ระบบการจัดการไม่ครอบคลุม คาดมีผู้เดือดร้อนที่ยังตกสำรวจอีกมาก
“ในระหว่างที่รัฐกำลังดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม ปัญหาคือวันนี้คนภายนอกมองว่าบางระกำโมเดลเดินหน้าแล้ว คนบางระกำสบายแล้ว จริงๆมีชาวบ้านอีกเยอะที่ยังไม่ได้รับความเชื่อเหลือ”
ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือของภาครัฐต้องไม่ออกมาแบบสงเคราะห์และเยียวยา บางระกำโมเดลต้องมองภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่มองการบริหารจัดการของภาครัฐ ถ้ารับฟังปัญหาจากข้างล่างระดับผู้เดือดร้อนจริงๆนำไปเป็นนโยบาย จะตรงใจ แก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าอย่างที่เป็นอยู่ อีก40 ปีข้างหน้าน้ำก็จะท่วมเหมือนเดิม แม้จะมีบางระกำโมเดล
ถอดบทเรียนภาคประชาชน : เสนอแผนระยะยาวให้บางระกำโมเดลเป็นจริง
ไม่นานมานี้ มีการระดมความคิดเห็นภาคประชาชนที่ประสบอุทกภัยในหัวข้อ บทเรียนการปรับตัวและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติพิษณุโลก “อัมพร แก้วหนู” คณะทำงานบริหารสถานการณ์น้ำท่วม เปิดเผยว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จุดสำคัญอยู่ที่ปลายทาง ชุมชนต้องเข้มแข็ง บริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ และอำนาจต่อรองก็จะอยู่ในมือประชาชน เพราะชุมชนทุกชุมชนมีทุนมีศักดิ์ศรีของตนเอง
เขาบอกว่าต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ ต้องตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชน ประกอบด้วยงานประชาสัมพันธ์ งานบริหารจัดการ งานข้อมูล งานการเงินและบัญชี งานช่วยเหลือ งานเสบียง งานระดมทุน งานป้องกัน มีแผนป้องกันภัยพิบัติ เรียนรู้อดีตและปัจจุบัน จัดให้มีแผนงาน 3 ระยะคือการปรับตัวเตรียมอยู่กับภัยพิบัติ การจัดการขณะประสบภัยและการฟื้นฟู รวมทั้งจัดให้มีการปรับระบบการเกษตร การเก็บเมล็ดพันธุ์ การดูแลผลผลิต การตั้งกองทุนภัยพิบัติตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประสานงานต่างจังหวัดใกล้เคียงภายใต้ “เครือข่ายประชาชนคนพิษณุโลก”
“อบต.อาจต้องออกข้อบัญญัติ เช่นห้ามสร้างบ้านชั้นเดียวติดพื้น แต่ละครอบครัวต้องทำตัวเองให้มีปัญหาให้น้อยที่สุด คนพิษณุโลกต้องทำแผนที่ทรัพยากร เช่น แหล่งน้ำ อาหาร จุดพักพิง เส้นทางคมนาคม เรือ ยานพาหนะ ต้องกางแผนที่เพื่อบริหารน้ำจังหวัด กองทุนสวัสดิการชุมชนควรเพิ่มกองทุนเล็กๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติด้วย” อัมพร แก้วหนู กล่าว
พร้อมกับข่าวคราวที่เริ่มเงียบหายไปจากการรับรู้ของคนทั้งประเทศ คนบางระกำ เมืองสองแคว ยังคงต้องเผชิญหน้ากับน้ำท่วมโดยพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เพราะหากหวังพึ่งโมเดลรัฐบาลคงสายเกินไป
ดูเหมือนว่านี่จะคือบทสรุป “การแก้ไขปัญหาอุทกภัยฉบับบางระกำโมเดล”ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โหมประโคมเมื่อ 3 เดือนก่อน และคงสะท้อนสถานการณ์น้ำทะลักกรุงเทพฯเมืองหลวงที่กำลังกระอักอยู่ในขณะนี้ และอาจรวมถึงบรรดาโครงการน้ำแห่งชาติทั้งหลายที่กำลังสาละวนคิดและดีดงบประมาณกันอยู่.