สมัชชาสุขภาพปี 58 คลอด 5 ฉันทมติรับมือภัยคุกคามสุขภาพ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 คลอดมติ 5 เรื่อง วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สุขภาวะชาวนา ระบบบริการสุขภาพในเขตเมือง การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม และการจัดการปัญหาหมอกควัน เน้นกระบวนการขับเคลื่อนมติและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.58 นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 แถลงข่าวมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 8 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด ‘สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย’ ว่า ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 2,618 คน จาก 280 องค์กร โดยเป็นเครือข่ายใหม่กว่า 50 องค์กร มีระเบียบวาระสำคัญที่พิจารณากัน 5 เรื่องคือ 1) วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ 2) สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา 3) ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม 4) นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และ 5) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเคยเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2555 แต่นำกลับมาเพื่อทบทวนและปรับปรุงให้การขับเคลื่อนมติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายเจษฎา กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพในปีนี้แตกต่างจากการประชุมสมัชชาสุขภาพที่ผ่านมา โดยให้น้ำหนักมากขึ้นกับการนำเสนอความคืบหน้าในการขับเคลื่อนมติที่ผ่านมาตลอด 7 ปี ทั้ง 64 มติ ซึ่งพบว่า รัฐบาล หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายหลากหลายภาคส่วนได้นำไปดำเนินงานและขับเคลื่อนนโยบายต่อหลายเรื่อง
ขณะที่ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 เปิดเผยผลการพิจารณาระเบียบวาระวิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา และสุขภาวะของชาวนาว่า ในเรื่องวิกฤติเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เห็นว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีมติให้ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการโครงสร้างระดับประเทศและระดับจังหวัด ประเด็นนี้สมัชชาสุขภาพจังหวัดตื่นตัวและเตรียมพร้อมมาก ประเด็นนี้จึงจะนำไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขันแน่นอน
ขณะที่ประเด็นสุขภาวะชาวนา เน้นในด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายชาวนา ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของชาวนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 กล่าวว่า การพิจารณาระเบียบวาระระบบสุขภาพเขตเมือง ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และยังได้เน้นในเรื่องการบริการปฐมภูมิที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมส่งเสริมป้องกันโรคที่สามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลแม่ข่ายลง ขณะที่การพัฒนาระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลทุตยภูมิและตติยภูมิก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน ส่วนระเบียบวาระการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมนั้น สมัชชาสุขภาพได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติและให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคเกลือและโซเดียมสูงมาก ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องออกมาตรฐานและระเบียบในสินค้าให้ชัดเจน
นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 3 ชี้แจงผลการพิจารณาระเบียบวาระว่าด้วยการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพว่า ประเด็นดังกล่าวเคยผ่านเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้วในปี 2555 แต่หลังจากขับเคลื่อนไป 3 ปี ปัญหายังคงไม่ลดลงและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปจึงเสนอให้เรื่องนี้เข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพอีกครั้ง ผลของการพิจารณาโดยสรุปคือ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นกลไกให้เกิดการพัฒนาระบบในระยะยาวและสามารถทำงานในพื้นที่ได้จริง โดยขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในกลไกดังกล่าว
นายเจษฎา กล่าวในตอนท้ายว่า ทิศทางการทำงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีต่อไปจะเน้นให้ประเด็นที่เข้าสู่การพิจารณาเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในระดับประเทศ ในขณะที่ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่และระดับจังหวัดจะกระจายการทำงานไปยังสมัชชาสุขภาพในพื้นที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น