มจธ.จับมือปิดทองหลังพระ พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ ตามแนวทางพระราชดำริ
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชนบท ในพื้นที่หมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทเข้าใจเข้าถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำไปปรับใช้ในครัวเรือน และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ เริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก่อนขยายผลต่อไปยังหมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
สำหรับถ่ายทอดและต่อยอดองค์ความรู้ให้กับสังคมและชุมชนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมานานแล้วในหลายพื้นที่
ล่าสุด มจธ.ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชนบทระหว่างสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริขึ้น ณ ศูนย์ประสานงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บ้านบ้านโป่งลึก-บางกลอย บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.10 (ห้วยแม่สะเลียง) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการของมูลนิธิฯ ที่ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งอพยพมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนไทย-พม่า ดำรงชีพอยู่อย่างยากลำบาก ในแต่ละวันพวกเขายังต้องใช้ชีวิตอย่างอดอยากขาดแคลน เพราะแม้จะมีแม่น้ำเพชรบุรีอันอุดมสมบูรณ์ เป็นสายเลือดหลักหล่อเลี้ยงผืนดิน แต่ทั้งสองบ้านก็อยู่สูงเกินกว่าจะนำน้ำจากแม่น้ำเพชรขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ พื้นที่ราบที่ใช้เพาะปลูกได้ ก็มีน้อยเสียยิ่งกว่า แม้แต่ยามที่ฝนดี สถานะทางเศรษฐกิจของทั้งสองหมู่บ้านยากจนไม่ต่างกัน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างถึงร้อยละ 76 รายได้จากการเกษตรมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 48 จะถูกใช้จ่ายเป็นค่าข้าวและอาหาร
"ที่ผ่านมาเกิดปัญหาการบุกรุกป่า ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน ปัญหาทัศนคติ ซึ่งเป็นปัญหาภายใน ขยายไปสู่ปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ ทั้งหมดนี้ โหมกระพือให้สถานการณ์ในพื้นที่แก่งกระจานดูเสมือนว่า จะไม่สามารถหาหนทางออกของปัญหาเหล่านี้ได้"
แต่สถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เริ่มคลี่คลายได้เมื่อทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมมือกัน โดยมีสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นคนกลางประสานงานให้เกิดการประชุมร่วมกัน
สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชนบท ในพื้นที่หมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระ จังหวัดน่าน อุดรธานี เพชรบุรี อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่รอดในระดับครัวเรือน ก้าวไปสู่ชนชนพอเพียง และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมีความยินดีอย่างยิ่งในการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในครั้งนี้ เพื่อนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยฯ เข้าไปพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งการเข้ามามีบทบาทของมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กับหน่วยงานพันธมิตรและกับชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่ มจธ.ทำมานานแล้วในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.แม่ฮ่องสอน, น่าน, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, สกลนคร, นครศรีธรรมราช, พังงา และอีกหลายๆ จังหวัด อย่างไรก็ตามการเข้าไปช่วยพัฒนาให้ประชาชนในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแม้จะไม่ใช่นโยบายโดยตรงของมหาวิทยาลัยแต่เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะทำให้นักศึกษาได้รับโจทย์และฝึกฝนทักษะชีวิตจากของจริง และเป็นการทำประโยชน์แบบเห็นผลให้กับสังคมอีกด้วย
อนึ่งการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชนบทของทั้ง 2หน่วยงานในครั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่แรกก่อนขยายผลต่อไปยังหมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระในจังหวัดอื่นๆต่อไป เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทเข้าใจเข้าถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ