ชาวบ้านแนะปลดล็อค อปท.ปลอดการเมืองชาติ ชุมชนจึงหวังพึ่งได้
นักเศรษฐศาสตร์จุฬาฯแขวะสังคมไทยรักพี่เสียดายน้อง ปากบอกเอาเกษตรกรรมยั่งยืนแต่มือเจาะน้ำมัน ทิศทางพัฒนาประเทศไม่ชัด แกนนำชาวบ้านชี้ปัญหาชุมชนพึ่ง อปท.ไม่ได้ เพราะเป็นแค่สาขาของพรรคการเมือง แนะแก้กฏหมายให้การเมืองท้องถิ่นอิสระ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนเา คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” มีการเสวนา “ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย: การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนโดยชุมชน”
รศ.ดร.กนกศักดิ์ แก้วเทพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าชุมชนกำลังต่อสู้กับวิถีทำกินและการแย่งชิงทรัพยากร ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ประเทศต้องเลือกว่าจะใช้วิธีการใดในการก้าวข้าม ระหว่างการยึดเกษตรกรรมยั่งยืนกับการพัฒนาแบบทุนอุตสาหกรรม วิถีชุมชนทางเลือกที่พูดถึงมากคือเกษตรกรรมทางเลือก แต่ถ้าจะให้เรียกว่าอภิวัฒน์จริงต้องทำให้ได้ 100% ซึ่งวันนี้ขาหนึ่งที่ยืนบนเกษตรวิถีนี้มียังไม่ถึง 20% ส่วนอีกขาหนึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเหยียบลงมาหรือไม่ ขณะเดียวกันภัยคุกคามจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศหรือภาวะการขาดแคลนอาหารก็กำลังบีบบังคับให้ต้องเลือก
“สังคมไทยยังเดินแบบรักพี่เสียดายน้องเกษตรกรรมยั่งยืนก็จะเอา ขณะที่ยังขุดเจาะบ่อน้ำมันไปเรื่อยๆ อาจต้องมาจัดมุมมองใหม่หรือเปล่าว่าอันไหนยั่งยืนกับชีวิตมากกว่ากัน และต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ก็ยังทำให้เกิดได้แค่บางพื้นที่บางบริบท”
นางประมวล จากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงรูปธรรมในพื้นที่ว่าชุมชนถูกนโยบายสัมปทานป่าบีบให้ออกจากพื้นที่ที่เคยดูแลรักษามาชั่วอายุคน ขณะเดียวกันชุมชนอื่นที่มีที่ดินติดป่าก็ต้องการพื้นที่ทำกิน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ป่าถูกทำลายไปเรื่อยๆ เท่ากับทำลายวิถีชุมชน ชาวบ้านจึงลุกขึ้นต่อสู้ด้วยการรวมเครือข่าย 15 ตำบล และมีการเชื่อมโยงกับ อบต.กระทั่งสามารถฟื้นฟูป่าและชุมชนอยู่ได้ด้วย
นายชัยพงศ์ เมืองด้วง เครือข่ายปกป้องผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าปัญหาการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ตามแผนพัฒนาภาคใต้ทำให้ชาวบ้านทำเอ็มโอยูร่วมกับ อบต. ประกาศเจตนารมณ์ชุมชนต้องการอยู่บนวัฒนธรรมและวิถีเกษตรของตน แต่ทิศทางที่รัฐหยิบยื่นให้เป็นขั้วตรงข้ามเน้นอุตสาหกรรม โดยอ้างแผนสวยหรูว่าจะพัฒนาแบบยั่งยืน
“แต่ในทะเลทุกตารางเมตรถูกจับจองเป็นแหล่งสัมปทานผูกขาดน้ำมัน มันตรงกันข้ามกับที่พูดมาหมด พอชาวบ้านเรียกร้องก็บอกว่าจะหยุดทำ ในพื้นที่ค่อยๆส่งโครงการมาทีละโครงการ”
นายชัยพงศ์ กล่าวว่า การหวังพึ่ง อปท.ให้เป็นกลไกแก้ปัญหาชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะการเมืองท้องถิ่นยังอิงกับพรรคการเมืองระดับชาติ และรัฐเหมือนเดิมท้องถิ่นก็ทำอะไรไม่ได้ การทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างแท้จริงจะเป็นทางออกของปัญหา แต่ปัจจุบันแผนพัฒนาฯที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำอยู่ยังไม่ใช่ และไม่สามารถแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ แม้ว่าจะมี อบต.เข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต. แม่ทา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าต้องปลดล็อกกฎหมายท้องถิ่นไม่ให้ อปท.เป็นเพียงสาขาหนึ่งของส่วนกลางตนมองว่าบุคลากรในพื้นที่ไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ติดที่โครงสร้าง หากกฎหมายแก้ให้ท้องถิ่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น ไม่ติดกับกระทรวงใด ขณะที่ชุมชนเองก็ต้องสร้างผู้นำที่พร้อมต่อสู้กับชาวบ้าน ปัญหาชุมชนและท้องถิ่นจึงจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง .