หลักฐานมีน้ำหนัก! ศาลฎีกายกฟ้อง‘บิ๊กอ๊อด’ไม่ต้องคืนหุ้น ‘เมียชัจจ์’
ศาลฎีกายกฟ้อง ‘พล.ต.อ.สมยศ’ อดีต ผบ.ตร. ไม่ต้องคืนหุ้น บ.แอสเซ็ทฯ กว่า 101 ล้านให้ ‘วิมลรัตน์’ ภรรยา ‘พล.ต.อ.ชัจจ์’ เหตุพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนัก เชื่อว่าลายมือชื่อใบโอนหุ้นเป็นของปลอม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 830/2553 ที่นางวิมลรัตน์ กุลดิลก ภรรยา พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีต รมช.มหาดไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีต รมช.พาณิชย์ ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (โจทก์ถอนฟ้องระหว่างการพิจารณา) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด (ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เวิลด์แก๊ส จำกัด) และพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานเพิกถอนการโอนหุ้น
กรณีนี้นางวิมลรัตน์ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2551นายสุริยา โอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ รวม 10,199,600 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ให้กับนางวิมลรัตน์ เพื่อชำระหนี้บางส่วน โดยนายธรรมนูญ ทองลือ (จำเลยที่ 2) ตัวแทนถือหุ้นของนายสุริยา ได้โอนหุ้นผ่านตัวแทนของนายสุริยาอีกคนหนึ่งเพื่อโอนหุ้นให้นางวิมลรัตน์ ต่อมานายสุริยา หลบหนีไปต่างประเทศ และนายธรรมนูญได้นำหุ้นนั้นไปขายให้กับ พล.ต.อ.สมยศ (จำเลยที่ 3) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ และให้พิพากษาว่าหุ้น จำนวน 10,199,600 หุ้น มูลค่า 101,996,000 บาทเป็นธรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้ง 10 คนเกี่ยวข้อง รวมทั้งให้จำเลยทั้ง 10 คน ร่วมกันชำระค่าเสียหายทดแทนนางวิมลรัตน์ จำนวน 407,999,694 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
ล่าสุด ศาลฎีกาประชุมหารือตรวจสำนวนกันแล้ว เห็นว่า ที่นายธรรมนูญให้การว่าไม่เคยโอนหุ้นพิพาทตามใบโอนหุ้นให้แก่นายสุวิทย์ สัจจวิทย์ (ตัวแทนของนายสุริยาอีกคนหนึ่ง) และไม่เคยได้รับชำระค่าหุ้น รวมทั้งไม่เคยรู้จักกับนายสุวิทย์ และนายสมบัติ สร้อยเงิน พยานในการโอนหุ้น และนายทะเบียนที่ลงนามรับรองในใบโอนหุ้นเป็นการลงนามรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ใบโอนหุ้นจึงเป็นเอกสารปลอม คำให้การของนายธรรมนูญที่ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์จึงชัดแจ้งอยู่ในตัว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับลายมือชื่อผู้โอนในใบโอนหุ้นว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 หรือไม่จึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของนายธรรมนูญ ในใบโอนหุ้นแตกต่างกันเล็กน้อยกับเอกสารอื่น ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่สามารถลงลายมือชื่อได้เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อยุติว่าลายมือชื่อของนายธรรมนูญ ในฐานะผู้โอนในใบหุ้นเป็นลายมือชื่อปลอมนั้น เห็นว่า นางวิมลรัตน์ และ พล.ต.อ.สมยศ ต่างอ้างและนำสืบยันกันอยู่ว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาท
แต่เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบโดยตลอดแล้ว พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายธรรมนูญไม่ได้โอนหุ้นให้แก่นายสุวิทย์ เพื่อที่นายสุวิทย์จะโอนหุ้นพิพาทให้แก่นางวิมลรัตน์ตามคำสั่งของนายสุริยาเพื่อชำระหนี้
นอกจากนี้ นางวิมลรัตน์ยังไม่มีพยานใดมานำสืบแสดงให้เห็นว่านายธรรมนูญ ลงลายมือชื่อในใบโอนหุ้น และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของนายธรรมนูญในเอกสารต่าง ๆ ที่คู่ความนำสืบแล้วปรากฏว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งหากนายสุริยาจะโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ก็แค่นำใบโอนหุ้นที่นายธรรมนูญ ลงลายมือชื่อโอนลอยไว้มากรอกชื่อนางวิมลรัตน์เป็นคู่สัญญาผู้รับโอนก็ย่อมสมบูรณ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้นายธรรมนูญทำใบโอนหุ้นพิพาทให้แก่นายสุวิทย์ทอดหนึ่งก่อนแล้วจึงให้นายสุวิทย์โอนให้โจทก์
ข้ออ้างของโจทก์เรื่องข้อตกลงโอนหุ้นพิพาทคืนให้นายสุริยามีเหตุผลสมควรให้รับฟัง เพราะนายสุริยาไม่ได้มีชื่อเป็นผู้บริหารของบริษัท แอสเซ็ทฯ หรือมีความยุ่งยากที่จะกลับคืนสภาพเดิมแต่อย่างใด การฎีกาของนางวิมลรัตน์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2554 ให้เพิกถอนการโอนหุ้นของบริษัท แอสเซ็ทฯ ระหว่างนายธรรมนูญ กับ พล.ต.อ.สมยศ รวม 10,199,600หุ้น, เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ กับ จำเลยที่ 5 รวม 2,000 หุ้นและเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่างพล.ต.อ.สมยศ จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 6-10 รายละ2,000 หุ้น (รวม 10,000 หุ้น) โดยให้หุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวิมลรัตน์ และ ห้ามจำเลยที่ 2-3 จำเลยที่ 5-ที่ 10 เกี่ยวข้องกับหุ้นดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 2-3 และจำเลยที่ 5-10 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์