"อิศรา" บุก "อัคราฯ" ลัดเลาะดูรอบเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร
"แก้ว แหวน เงิน ทอง” วลีติดปาก ของคนไทยยามต้องพูดถึงของมีค่า และก็ดูเหมือนกับว่า การลำดับสิ่งของนั้นถูกจัดวางอย่างตั้งใจไว้เเล้ว คือจากน้อยไปหามาก มากที่สุดก็คือทอง ทองหรือทองคำเป็นชื่อเรียก สินแร่มีค่าที่หลายคนใฝ่ฝันปราถนาอยากได้มาครอบครอง ทองบางครั้งถูกใช้เพื่อบ่งบอกความรุ่งโรจน์ของยุคอย่างเช่น ยุคทอง เป็นต้น เราใช้ทองบ่งบอกถึงความมั่นคงมั่นคั่ง ความรุ่งโรจน์มาอย่างช้านาน
เมื่อไม่นานมานี้ "สำนักข่าวอิศรา" มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมเหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนรู้จักกันในนามเหมืองแร่ทองคำชาตรี ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
เหมืองทองคำแห่งนี้ดำเนินกิจการโดย บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมคือ อัครา ไมนิ่ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันบริษัทอัคราฯ มีจำนวนประทานบัตรที่ได้ยื่นขอทั้งสิ้น 109 ฉบับ แบ่งเป็น อาชญาบัตรสำรวจแร่ 107 ฉบับ ซึ่งได้ทำการสำรวจไปแล้ว และต่ออายุอาชญาบัตรเพิ่มอีก 1 ฉบับ และกำลังขอประทานบัตรใหม่ 1 ฉบับ (1 New mining lease application)
ทีมข่าวสำนักข่าวอิศรา ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง จึงถึงตัวเหมือง ด่านแรกก่อนเข้าไปในตัวเหมืองได้นั้น ทุกคนจะต้องทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเพื่อความปลอดภัยด้วย ถือเป็นหนึ่งในการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นภายในเหมือง
ช่วงเวลาเที่ยงตรง ซึ่งขณะนั้น พอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่เหมืองกำลังจะมีการระเบิดหิน เพื่อเปิดชั้นหินในการขุดสินแร่พอดี เจ้าหน้าที่จึงถือเป็นโอกาสพาไปชมกระบวนการการระเบิด ซึ่ง ก่อนเดินทางเข้าไปชมการระเบิดทุกคนต้องเปลี่ยนชุดเพื่อความปลอดภัย ทั้งหมวก เสื้อสะท้อนแสง รวมไปถึงแว่นตาและรองเท้า ส่วนพาหนะที่จะนำเข้าไปได้นั้น ต้องเป็นของเจ้าหน้าที่และมีธงสีแดงติดไว้ตรงท้ายรถเสมอ เพื่อให้รถบรรทุกขนาดยักษ์ภายในตัวเหมืองมองเห็นได้จากระยะไกล
จุดระเบิดหิน ที่นี่เราได้พบกับ "ก้อย" เสาวลักษณ์ ตันตระกูล วิศวกรประจำเหมืองแร่ ซึ่งทำงานอยู่ที่นี่มากว่า 14 ปี คอยอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ กว่าจะมีการระเบิดหน้าหินในแต่ละครั้ง การหาความคุ้มทุน การเอาแร่เกรดสูงขึ้นมาก่อน โดยเธอเปรียบเหมือนการเจาะไข่แดง
"เสาวลักษณ์" อธิบายให้ฟังคร่าวๆ ว่า เหมืองอัคราแห่งนี้ มีสองฝั่ง คือ ฝั่งชาตรีเหนือและชาตรีใต้ เหตุที่ใช้คำว่า ชาตรี ก็เพื่อเป็นการระลึกถึง นายชาตรี ชัยชนะพูลผล อดีตเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอัคราฯ ซึ่งเป็นผู้เริ่มสำรวจทองคำในบริเวณนี้และได้เสียชีวิตขณะปฏิบัตหน้าที่
"ปัจจุบัน เหมืองชาตรีฝั่งใต้ หรือเฟส1 นั้นปิดบ่อไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้วตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีการทำเหมืองที่ฝั่งเหนือหรือเฟส 2 อย่างเดียว" วิศวกรประจำเหมือง เล่าถึงที่มาที่ไป ก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า ก่อนจะมีการขุดหรือระเบิดเพื่อเอาสินแร่ในแต่ละครั้งนั้น จะต้องมีการสำรวจเพื่อประเมินดูว่า การระเบิดและขุดในแต่ละครั้งนั้น มีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งความคุ้มค่าต่างๆ ก็อิงกับราคาทองคำในตอนนั้นๆ ด้วย รวมไปถึงการคัดแยกสินแร่ที่มีคุณภาพแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ในกระบวนการผลิตนั้นคุ้มค่าด้วย
|
|
การพูดคุยสั้นๆ ของเรา มาหยุดลงชั่วขณะ ณ เวลา 12:15 นาที ซึ่งได้เวลาที่สวิชต์ระเบิดจะถูกกด ทุกหน่วยวิทยุหากันเพื่อเช็คความเรียบร้อยครั้งสุดท้าย ตรงหน้าห่างออกไปราว 1000 เมตร เสียงระเบิดดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ก้อนหินน้อยใหญ่แตกกระจาย ฝุ่นควันค่อยๆ พวยพุ่งขึ้น และลอยหายไปในอากาศ
“ก่อนการระเบิดหิน ทางเหมืองจะเจาะแต่ละหลุมลึกลงไปกว่าร้อยเมตร และใช้ระเบิดแบบพิเศษ ที่มีอนุภาพที่ดี ทำให้การระเบิดแต่ละครั้งใช้งบไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนบาท ซึ่งช่วยให้การฟุ้งกระจายของฝุ่นมีอยู่ในอัตราที่น้อย แรงสั่นสะเทือนที่น้อย นอกจากนี้ทางเหมืองยังมีการปลูกแนวต้นไม้ เพื่อเป็นแนวกันฝุ่น และเสียง (Buffer Zone) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นกระถิน และต้องยูคาลิปตัส เพราะพืชเหล่านี้โตเร็ว และทนต่อสภาพอากาศได้ดี” วิศวกรสาวประจำเหมือง อธิบายหลังจากเสียงระเบิดสงบลง
ขณะที่ภาพเบื้องหน้ารถบรรทุกขนาดยักษ์ตั้งแถวกำลังลงไปยังจุดที่มีการระเบิด เพื่อทำการขนย้ายสินแร่หลายพันตัน เพื่อนำเข้าไปรอในกระบวนการบดในโรงงานต่อไป
สำหรับผลการสำรวจของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส พบว่า มีแร่ทองคำ ซึ่งเป็นสายแร่ควอตซ์ แทรกอยู่ในหินภูเขาไฟ โดยมีปริมาณของสินแร่ประมาณ 14.5 ล้านตัน มีปริมาณทองคำเฉลี่ย 2.6 กรัม และเงิน 13.3 กรัมต่อสินแร่หนัก 1 ตัน สามารถสกัดเป็นโลหะทองคำได้ประมาณ 32 ตัน และเงินประมาณ 98 ตัน
เมื่อคำนวนจากคาดการณ์ปริมาณสินแร่ทองคำ(ณ วันที่30 มิถุนายน 2557) คาดว่าเมื่อสิ้นสุดประทานบัตร อัครฯจะขำระค่าภาคหลวงเป็นจำนวนเงิน 4,014,320,000 บาทให้แก่รัฐ และจำนวน 200 ล้านบาทเข้ากองทุนต่างๆ
เฉพาะปี 2014 บริษัทอัคราฯ ชำระค่าภาคหลวงทั้งสิ้น 550,294,898 บาท รวมค่าภาคหลวงตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการทั้งสิ้น 3,281,708,226 บาท และมีภาษีที่ชำระตั้งแต่ดำเนินการถึงปี 2014 อยู่ที่ 1,078,952,115 บาทเข้ากองทุนต่างๆ
ถัดมากจากจุดของหลุมเหมือง ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่ตั้งของ โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนเริ่มตั้งแต่บดหยาบ บดละเอียด รวมไปถึงการคัดแยกแร่ทอง และเงินออกจากก้อนหิน ก่อนจะหลอมออกมาเป็นก้อน และส่งไปแยกเป็นทองบริสุทธิ์อีกที ที่ฮ่องกงในรูปของแท่งโดเร่ ทั้งหมดถูกทำขึ้นที่นี่ เหมืองที่พิจิตร
ในส่วนของโรงงานเราได้พบกับ นายเชาว์ลิต ทองคำ ซึ่งทำงานในเหมืองอัครามาตั้งแต่เหมืองเริ่มสร้าง จากตำแหน่งพนักงานทั่วไปจนตอนนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายผลิตอาวุโส
"เชาวลิต" เล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการชะล้างสินแร่เพื่อดึงทองและเงินออกจากสินแร่นั้น จะใช้สารไซยาไนด์ในปริมาณ 4 ตันต่อวัน ในขั้นตอนนี้ พนักงานที่ผสมสารตัวนี้จะต้องใส่เสื้อป้องกันที่ทำขึ้นมาพิเศษคล้ายกับชุดของนักบินอวกาศ จึงจะไม่มีการสัมผัสสารตัวนี้ในขั้นตอนการผสมแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่ว่ามีพนักงานผสมสารไซนาไนด์เสียชีวิตนั้น หัวหน้างานฝ่ายผลิตอาวุโส
เหมืองแห่งนี้ เล่าข้อเท็จจริงให้ฟังว่า พนักงานที่เสียชีวิตไปนั้น เป็นพนักงานรุ่นแรก ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 14 ปี และจะเกษียนในปีหน้านี้เเล้ว แกเป็นคนสุขภาพแข็งเเรงดี ผลการตรวจสุขภาพที่ผ่านมาก็ดี ซึ่งการเสียชีวิตของลุงแกก็มาจากโรคประจำตัว
ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลอย่างเรื่องสารพิษอย่างไซนาไนค์ เชาวลิต ยืนยันว่าทางเหมืองนั้นมีกระบวนการดูเเลอย่างมาตรฐานสากล รับรองว่าปลอดภัย 100% เพราะเท่าที่ตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา ยังไม่เคยเป็นโรคใดๆ เลย และในเรื่องสุขภาพนั้น ทางบริษัทจะมีการตรวจสุขภาพของพนักงานทุกปี
"ถ้ามีสารพิษจริงพวกผมต้องตายก่อนอยู่เเล้ว เพราะเราอยู่ในโรงงาน จริงไหม" เชาวลิต อธิบายพร้อมตั้งคำถามกลับมา ก่อนโชว์เครื่องตรวจวัดสารไซนาไนด์ในอากาศให้เราดู
จากกระบวนการผลิต แน่นอนว่ามีผลิตย่อมต้องมีของเสียจากการผลิต กากสินแร่ที่เหลือจากกระบวนการชะละลายจะถูกสูบขึ้นไปพักเก็บในบ่อขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 500 ไร่
แต่ก่อนที่กากแร่ทั้งหลายจะไปถึงบ่อกักเก็บ จำเป็นต้องมีการกำจัดสารไซยาไนค์ให้อยู่ในระดับที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั้นคือในปริมาณ 15 ppm ก่อน และเมื่อกากแร่ถูกลำเลียงผ่านท่อขึ้นไปเก็บยังบ่อกักเก็บที่มีลักษณะเป็นพื้นที่กว้าง ที่มีจุดศูนย์กลางต่ำสุด เพื่อให้น้ำทั้งหมดจากกระบวนการผลิตไหลรวมกันก่อนจะสูบน้ำทั้งหมดกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป
จุดนี้ ทาง "ดิษ" ภาณุมาศ แก้วชะโน วิศวกรเทคนิคอาวุโส ผู้ดูเเลบ่อกักเก็บแร่อธิบายให้เราฟังว่า “น้ำที่สูบกลับไปใช้ เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากร รวมไปถึงการไม่ปล่อยให้มีการรั่วไหลออกจากโรงงาน ซึ่งลักษณะเเบบนี้ถือเป็นการทำเหมืองแบบปิด หรือ Zero Discharge นั่นเอง”
ก่อนที่ทางทีมงานจะพาพวกพวกเราไปดูบ่อกักเก็บแร่ที่ 1 ซึ่งปัจจุบันปิดการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังมีการฝังกลบ พร้อมทั้งปลูกพืชยืนต้น เพื่อยืนยันว่า ต้นไม้สามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ และเพื่อคลายข้อกังวลที่ว่า ไซยาไนด์จะเป็นพิษต่อมนุษย์และชุมชนรอบๆ เหมือง
“ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นในจุดที่มีการกลบเรียบร้อยเเล้ว อย่างต้นกระถิน ต้นไผ่ รวมไปถึงในบ่อกักเก็บแร่ที่ 1 นี้ ยังมีแปลงทดลองปลูกพืช ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย” เขาธิบายพร้อมกับชี้ให้ดูว่า นอกจากพืชและแปลงทดลองดังกล่าวแล้ว ยังมีพวกวัชพืชที่ขึ้นตามบริเวณบ่อกักเก็บ
"นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า ปริมาณของไซยาไนค์นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ธรรมชาติรับได้" เขากล่าวด้วยสีหน้ามั่นใจ
ปัจจุบันเหมืองอัครา มีบ่อกักเก็บบ่อใหม่ที่ใช้เงินลงทุน กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทาง วิศวกรเทคนิคอาวุโส ผู้ดูเเลบ่อกักเก็บแร่ เล่าให้พวกเราฟังว่า “บ่อเก็บกากแร่บ่อใหม่นี้ ใช้ผ้าใบที่มีความทนทานและมีอายุใช้งานกว่า 200 ปี เป็นตัวรองก้นบ่อและรอบบ่อ”
น้ำสีฟ้าดูสวยงาม มองออกไปสุดลูกหูลูกตา รถของทางเหมือง พาคณะเรามาถึงใจกลางบ่อที่สองที่มีรูปคล้ายหัวใจ
วิศวกรผู้ดูเเลยืนยันว่า โครงสร้างในบ่อกักเก็บแร่แห่งที่สองนั้น จะต่างจากบ่อแรก เพราะบ่อแรกจะใช้ดินเหนียวอัดรอบทั้งบ่อ ซึ่งตะกอนดินเหนียว เป็นสิ่งที่พบได้ในชั้นดินในแถบนี้ โดยเหมืองทำการอัดดินเหนียวไว้รอบบ่อแล้วจะเหมือนกับอุดตันทำให้น้ำซึมช้าลง ระหว่างนั้น ทางเหมืองก็สูบน้ำกลับไปใช้งานต่อไป สังเกตได้ว่า รอบๆขอบบ่อนั้นจะไม่มีน้ำ เพราะทางเหมืองต้องรักษาระดับน้ำไม่ให้ถึงขอบบ่อตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงมรสุมก็ตาม จึงมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีการรั่วซึมอย่างแน่นอน
และเพื่อความมั่นใจของทุกคน ทางทีมงานเหมือง ได้มีการสาธิตว่า บริเวณที่ยืนซึ่งเป็นบ่อเก็บกากแร่ขนาดใหญ่นั้นมีปริมาณไซยาไนด์เท่าไร โดยวัดค่าจากเครื่องมือวัดไซยาไนด์ นำมาเทียบกับควันบุหรี่เพื่อดูว่า หากบริเวณนี้มีไซยาไนด์สูงกว่ามาตรฐาน เครื่องตัวนี้จะร้องขึ้นเพื่อเตือนว่าบริเวณนั้นมีสารพิษเกินมาตรฐานนั่นเอง
พอตะวันคล้อยบ่ายแก่ๆ เครื่องแบบ หมวก เสื้อสะท้อนแสง รองเท้า แว่นตาถูกถอดออก พนักงานหนุ่มรุ่นใหม่คนหนึ่งหันมายิ้มและบอกกับเราว่า ช่วงนี้ยังไม่เข้าหน้าหนาวแต่ถือว่าวันนี้อากาศไม่ร้อนมาก หากเทียบกับวันอื่นๆ ทั้งนี้ทางเหมืองเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาชมการทำงานของเหมืองได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องมีการทำหนังสือติดต่อเข้ามาก่อน และต้องมาเป็นหมู่คณะเท่านั้น
เย็นวันนั้น นอกจากได้ชมและลัดเลาะรอบขอบเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว พวกเรามีโอกาสเข้าร่วมงาน CSR ของเหมืองอย่างโครงการ "ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ"อีกด้วย
รถตู้สตาร์ทออกจากเหมืองไปจากฝุ่นแดงตลบอบอวล จากถนนลูกรังในเหมือง เปลี่ยนเป็นถนนลาดยางอย่างดี ภาพสองข้างทางบนถนนเปลี่ยนเป็นภาพบ้านเรือนชาวบ้าน ทุ่งนา โรงเรียน วัดวาอาราม
รถแล่นพาเราออกห่างจากเหมืองมาเรื่อยๆ จนมาถึงสถานที่จัดงาน เสียงเครื่องกระจายเสียงร้องชวนเชิญแขกเรื่อ เสียงหัวเราะชาวบ้านตามคันนา เสียงเด็กเล็กเด็กน้อย วิ่งเล่นเจี้ยวจ้าว และแม้เสียงระเบิดเหมืองจะดับไปหลายชั่วโมงเเล้ว แต่ดูเหมือนว่าทุกคนจะไม่ได้สนใจมากนัก เพราะอย่างไรเสีย พรุ่งนี้เสียงระเบิดลูกใหม่ก็ถูกจุดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าวันหนึ่งวันที่สินแร่มีค่าไม่มีค่าอีกต่อไป เมื่อนั้นเสียงอื่นคงมาแทนที่...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:วิจัยพบ ‘พืช-ดิน-น้ำ’ รอบเหมืองทองพิจิตรปนเปื้อนโลหะหนักอื้อ! ห่วงเด็กมี DNA ผิดปกติ