สมัชชาสุขภาพฯ ขับเคลื่อน 5 วาระ คุกคามสุขภาพคนไทย สู่ภาคปฏิบัติ
สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 8 ขับเคลื่อน 5 ระเบียบวาระคุกคามสุขภาพคนไทย เน้นแบคทีเรียดื้อยา-สุขภาวะชาวนา-สุขภาพเขตเมือง-ลดบริโภคเกลือ-หมอกควัน สู่ภาคปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 หัวข้อ สานพลังปัญญาและภาคีสร้างวิถีสุขภาวะไทย ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ‘สมัชชาสุขภาพ’ คือ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางให้เกิดการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเข้ามาร่วมคิดด้วยกัน ทำงานด้วยกันแบบที่เรียกว่า ‘รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ’ ซึ่งจะเกิดสุขภาพดีหรือเกิดสุขภาวะตั้งแต่รวมกันร่วมคิดร่วมทำแล้วผลงานที่ได้จากการร่วมกันทำนั้นยังสำเร็จเป็นรูปธรรม
อะไรคือรูปธรรมที่กล่าวถึง? เพราะสิ่งที่สมัชชาสุขภาพกำลังทำอยู่ค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรม รูปธธรมที่กล่าวถึงนั้นจะปรากฏขึ้นตั้งแต่กระบวนการทำงานที่เป็นระบบผ่านการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการระดมปัญหาจากเรื่องใกล้ตัวของสมัชชาสุขภาพที่ทำเรื่องเล็ก ๆ จากคนใกล้ตัวเข้ามาสู่วาระระดับชาติ ซึ่งจะออกดอกออกผลในรูปของนโยบายที่ถูกนำไปใช้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แม้หลายเรื่องที่ขับเคลื่อนอาจต้องใช้ทั้งเวลาและการทุ่มเทดังตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น การพัฒนานโยบายเรื่องอาหารปลอดภัย เกษตรกรปลอดภัย เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในทุกรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายถูกผลักดันเป็นนโยบายของประเทศ คณะรัฐมนตรีนำไปขับเคลื่อนผ่านกลไกของรัฐสมาชิก สมัชชาสุขภาพทุกระดับนำไปขับเคลื่อนต่อในระดับพื้นที่หลายจังหวัด จนสามารถขยายพื้นที่เกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยได้มากขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้หนึ่งในนโยบายที่ถูกขับเคลื่อนผ่านการทำงานร่วมกันของสมัชชาสุขภาพ คือ การพัฒนานโยบายการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว ผ่านการบูรณาการร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับกระทรวง ส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็นำไปขับเคลื่อนตามภารกิจและหน้าที่จนถึงท้องถิ่น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนหลายแห่งก็นำไปพัฒนาระบบในพื้นที่งานดี ๆ ก็เกิดเป็นรูปธรรม
ด้าน รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้นสำคัญยิ่งต่อการสร้างวิถีสุขภาวะไทย นับตั้งแต่มีการสานพลังปัญญาจากเครือข่ายและภาคีจนทำให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และทำให้มีการจัดสมัชชาแห่งชาติทุกปี มีมติออกมามากมาย นับเป็นนโยบายสาธารณะที่มาจากฉันทมติร่วมกันของภาคีต่าง ๆ
โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา การประชุมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นมติสมัชชาถึง 64 มติ เมื่อมีทิศทางแล้วก็ต้องมีการขับเคลื่อนให้ถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และหนึ่งในปัจจัยหลักของความสำเร็จในการขับเคลื่อน คือ การมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบจากทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ถอดบทเรียนความผิดพลาด เช่น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 เรื่องการเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ดูเหมือนว่ากว่าจะมีมติออกมา มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย
แต่มติดังกล่าวก็สามารถออกมาได้ และถูกขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่ายจนเกิดผลมากมาย เช่น การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป หรือการศึกษาประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ก่อนเข้าร่วมทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก) จึงอาจกล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้นมีความสำคัญพอ ๆ กับการสร้างนโยบาย
ประธานกรรมการองค์กรอิสระ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีกลไกที่จะมีส่วนสร้างพลังทางสังคมเช่นเดียวกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพ นั่นคือ การทำงานร่วมกันภาคส่วนต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่ใน ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...ด้วยความเชื่อมั่นในพลังและสิทธิในการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค จึงมีความเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญทั้งกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการพัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 8 จะมีระเบียบวาระเข้าสู่การประชุม 5 ระเบียบวาระ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญคุกคามสุขภาพของคนไทยประกอบด้วย
1) วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ
2) สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา
3) ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม
4) นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ
5) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมติเดิมที่เคยผ่านเวทีสมัชชาฯ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ไปแล้ว แต่นำกลับมาเพื่อทบทวนและปรับปรุงให้การขับเคลื่อนมติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อได้รับฉันทามติแล้วจะถูกเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติผลักดันต่อไป .