อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200
อดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่าพวกเขารู้สึกแปลกใจที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปร่วมกิจกรรมพบปะกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ตามกิจกรรมที่ทางการกล่าวอ้าง
อดีตผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงรายหนึ่ง ซึ่งเคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ หมาย ฉฉ.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานฉุกเฉิน พ.ศ.2548 บอกว่า เขาเป็นชาวจังหวัดยะลา ตกเป็นผู้ต้องสงสัย และถูกออกหมาย พ.ร.ก.ตั้งแต่ปี 2548 จากนั้นก็ได้เข้ากระบวนการตามกฎหมาย ถูกส่งไปอยู่ที่ค่ายบ่อทอง หรือค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ กระทั่งเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวกลับบ้าน สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
กระทั่งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีหนังสือจากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ร่วมเดินทางไปที่ อ.หาดใหญ่ เพื่อร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" และพบปะกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้รู้สึกงง เพราะไม่เคยร่วมโครงการพาคนกลับบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งโครงการนี้ก็เพิ่งเปิดเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมานี้เอง
"ผมก็ต้องไปตามหนังสือเชิญของเจ้าหน้าที่ กลัวว่าถ้าไม่ไปเดี๋ยวจะหาว่าเรา เป็นผู้ต้องสงสัยอีก ต้องหนีกันอีก แค่นี้ชีวิตก็ไม่มีความสุขแล้ว เมื่อถึงวันนัด (21 ธ.ค.) ก็พบว่าไปกันหลายคน ทหารให้นั่งรถบัสไป บอกว่ามีเบี้ยเลี้ยงให้ด้วยคนละ 200 บาท ก็ได้เจอเพื่อนเก่าที่เคยถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ก็รู้สึกดี คิดว่าได้มาเจอเพื่อน ส่วนเขาจะบอกว่าเราเป็นคนที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ใครจะทำอะไรก็ทำไป ขออย่างเดียวให้สามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ปกติ แค่นี้ก็พอแล้ว" เขากล่าว
อ้าง 2 เดือน "คนกลับบ้าน" 1,097 คน
กิจกรรมต้อนรับ "คนกลับบ้าน" พร้อมนิทรรศการโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค.2558 โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นวันเดียวกับการประชุมมอบนโยบายให้กับผู้นำหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
"ผู้เห็นต่างจากรัฐ" หมายถึงผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกออกหมายจับหรือหมายเรียกตามกฎหมายพิเศษ แต่ยอมออกมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.อ้างว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านจำนวนถึง 1,097 คน
สำหรับโครงการพาคนกลับบ้าน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้นโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง เป็นรูปธรรม มีความชัดเจน และมีเอกภาพในการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้บังคับบัญชาและความสะดวกรวดเร็วกับผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบพิเศษให้กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยการสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเครือญาติ ตลอดจนครอบครัวของกลุ่มผู้เห็นต่างที่โดนหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหมายเรียกตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมเปิดให้มวลชนคนกลางช่วยชักชวนและจูงใจกลุ่มผู้เห็นต่างให้กลับบ้าน เช่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำสี่เสาหลัก เครือญาติ และครอบครัว รวมทั้งบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐไว้วางใจ
ทั้งหมดนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่บ้าน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 3,000 คนแล้ว เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
ปลายปี 56 ยอด"คนกลับบ้าน"ยังไม่ถึงพัน
จากการสืบค้นของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าแท้ที่จริงแล้ว โครงการ "พาคนกลับบ้าน" เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ในยุคที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 โดยแม่ทัพฯอุดมชัย เคยกล่าวระหว่างพบปะกับผู้นำศาสนา ผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่จำนวน 71 กลุ่ม ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2553 ว่า หนึ่งในห้านโยบายเฉพาะที่จะดำเนินการ ก็คือ การอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม ได้เดินทางกลับคืนสู่ภูมิลำเนา คือ "เอาคนกลับบ้าน" หมายถึงทั้งคนที่ก่อเหตุ คนที่อพยพออกนอกพื้นที่ ทั้งพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม ต้องเอาคนเหล่านี้กลับบ้าน มาอยู่กับครอบครัว มีความสุขกับครอบครัว โดยเฉพาะคนที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวทางที่จะนำมาใช้ก็คือเปิดให้คนที่มีความเห็นแตกต่างได้มาร่วมกันแก้ปัญหา
ต่อมาเมื่อเดือน ก.ย.ปี 2556 ได้มีการรายงานความคืบหน้าของโครงการพาคนกลับบ้าน ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางลงพื้นที่ สรุปว่ามีผู้เห็นต่างฯ เข้ารายงานตัวแล้วทั้งสิ้น 983 ราย กอ.รมน.ภาค 4 สน.ดำเนินการช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 648 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 335 ราย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การประชุมหน่วยงานความมั่นคง 14 จังหวัดภาคใต้ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
2 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะลงพื้นที่ภาคใต้
อ่านประกอบ :
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย