โฆษกประจำสำนักนายกฯ แจงกรณีสื่อนอกรายงานเจ้าหน้าที่รัฐละเลยปัญหาการค้ามนุษย์
วันที่ 21 ธ.ค. 58 เวลา 10.25 น. พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลตำรวจตรี กรไชย คล้ายคลึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ปคม) พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และนายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ณ ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลไม่ประสงค์ให้ข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่าไทยมีการค้าแรงงานทาสในโรงงานแกะกุ้งเพื่อส่งโรงงานอาหารทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เพิกเฉยและปล่อยปละละเลยต่อเหตุการณ์ และที่ไทยเป็นประเทศที่ส่งกุ้งแช่แข็งเป็นอันดับต้นของโลก เพราะเกิดจากการใช้แรงงานทาส ทำให้ต้นทุนต่ำ โดยในต่างประเทศได้มีการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าทะเลของไทย ซึ่งการรายงานข่าวนั้นถือว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง
โดยพันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานการเข้าเมืองผิดกฎหมายถือเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขมาตั้งแต่ต้นและไม่ได้ลดระดับความสำคัญลง ในกรณีดังกล่าวการรายงานข่าวอาจมีการคลาดเคลื่อนในการนำเสนอ พร้อมยืนยันว่า คสช. ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง โดยให้ข้อมูลใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. เน้นว่ารัฐบาลได้ยึดมั่นต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานภาคประมง 2. มีการติดต่อสมาคมประมง ผู้ประกอบการค้าอาหารทะเลในสหรัฐฯ ยุโรปและต่างประเทศโดยให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลก้าวหน้าในหลายส่วน 3. มีการจัดตั้ง Task force ระหว่าง ภาคเอกชน NGO ต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ได้ร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ 4.ชี้แจงกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องถึงความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยมุ่งเน้นปรับให้แรงงานผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบ มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 โดยห้ามแรงงานเด็กต่ำกว่า 18 ปี โดยได้กำหนดอัตราแรงงานขั้นต่ำไว้ 300 บาท ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจให้แรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีไทยต้องการความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
พลตำรวจตรี กรไชย คล้ายคลึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ามีการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยทหาร ตำรวจ และ DSI ได้ร่วมกันจับกุมช่วยเหลือเหยื่อ และคัดแยกเหยื่อ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด ซึ่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเน้นย้ำให้ 22 จังหวัดชายทะเลของไทย ดำเนินการป้องกันและปราบปรามเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจสอบทั้งสุขอนามัย และระบบต่างๆ หากไม่ได้มาตรฐานก็สั่งปิดโรงงานทันที
พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า จากการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เป็นการนำข้อมูลเมื่อในช่วงเดือน 9 พ.ย. โดยรายงานว่ามีแรงงานทาส แรงงานเด็ก ค่าจ้างราคาถูก ซึ่งในความจริงแล้วภาพดังกล่าวเป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการที่ไทยได้ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง ซึ่งนับตั้งแต่ไทยโดนใบเหลืองตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการกองทัพเรือให้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ จึงได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยได้มีการตั้งชุดเฉพาะกิจ 25 ชุดครอบคลุม 22 จังหวัดชายทะเล ติดตามผ่านศูนย์ 28 ศูนย์ มีการหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ซึ่งในวันที่ 9 พ.ย. มีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมตรวจสอบการปราบปราม แต่การรายงานเป็นการนำภาพบางส่วนไปขยายผลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเนื่องจากไม่ใช่การกักขังแต่เป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงาน ซึ่งต้องดำเนินการสอบสวนเพื่อคัดกรองตามกระบวนการ และถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบตามโรงงาน 125 โรงงานใน 22 จังหวัดชายแดนทะเลของไทย โดยตรวจเสร็จแล้ว 101 โรงงาน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าไปดำเนินการตามวาระแห่งชาติของไทย แต่การรายงานข่าวมีบางส่วนที่ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง รัฐบาลต้องการให้ไทยพ้นจากอันดับค้ามนุษย์เทียร์ 3 โดยเน้นย้ำสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และให้แรงงานที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ให้สิทธิที่พึงมี มีระบบสุขอนามัยที่ดี การดูแลสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งรัฐบาลและ คสช. ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ตามที่วางไว้ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยภายหลังโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นคำถามดังนี้
ประเด็นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในภาคประมง ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ หากมีการหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม จะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำสัญญาจ้างทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาอื่นๆ ตามสัญชาติของลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามหลักการดำเนินงานในบางโรงงาน นายจ้างได้มีการพูดคุยเพื่อตกลงเรื่องค่าจ้าง โดยจะจ่ายให้ตามมูลค่าที่ลูกจ้างสามารถผลิตสินค้าได้ หรือตามมูลค่าที่ลูกจ้างสามารถจับสัตว์น้ำได้ จึงทำให้ลูกจ้างได้ค่าแรงที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรม และสำหรับการดูแลแรงงาน ปัจจุบัน ประเทศไทยดูแลแรงงานย้ายถิ่นกว่า 300,000 คน รวมทั้งพยายามดำเนินการให้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เข้าสู่ระบบแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ด้วยการจดทะเบียน เพื่อที่จะได้รับสิทธิในการดูแลคุณภาพชีวิต และสวัสดิการต่างๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน
ในส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเลย เพิกเฉย หรือไกล่เกลี่ยปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีอย่างจริงจัง โดยจากกรณีตามรายงานข่าวที่เกิดเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 57 นั้น ได้มีการดำเนินคดีแจ้งข้อหากับเจ้าของโรงงาน 13 ข้อหา ส่วนกรณีอื่นๆ อาทิ ชั่วโมงทำงานล่วงเวลา จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาทำงาน จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากโรงงานผู้ผลิตไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง จะต้องดำเนินการปิดทันที อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวเอเชีย จะให้ครอบครัว ลูก หลาน เข้ามาร่วมทำงานด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ รัฐบาลไทยรับทราบและจะเร่งดำเนินการดังกล่าวตามหลักสากล โดยจะแบ่งเป็นสัดส่วน และจัดพื้นที่สำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ซึ่งได้มีการลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา ขณะเดียว ได้มีการควบคุม ตรวจสอบ และดำเนินการกับเรือประมงที่ใช้อุปกรณ์จับปลาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในช่วงต้น มีการต่อต้านจากชาวประมงบางส่วน แต่รัฐบาลได้ดำเนินการชี้แจง อธิบายให้ทราบ และทำความเข้าใจ จึงส่งผลให้มีการกระทำผิดกฎหมายลดลง
ทั้งนี้ รัฐบาล ยืนยันที่จะพยายามเร่งแก้ไขปัญหาโดยยึดตามหลักมาตรฐานสากลด้วยความโปร่งใส รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบสากล เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ การประมงผิดกฎหมาย และยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย