จับกระแสคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนใต้
ความเคลื่อนไหวเงียบๆ แต่ส่งผลสะเทือนสูงที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ คือการเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ พร้อมๆ กับการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่นๆ อีก 33 จังหวัดทั่วประเทศไทย
"กระบวนการคัดเลือก" ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็น "การเลือกตั้ง" กำหนดหลักการและวิธีการไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และกฎกระทรวง (พ.ศ.2542)
โดยในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม หมวด 4 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาตรา 23 บัญญัติว่า จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดตามมาตรา 13 ไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 30 คน
การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น
ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา
เปิดกฎกระทรวงกำหนดวิธีคัดเลือกกรรมการอิสลามจังหวัด
สำหรับวิธีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (พ.ศ.2542) ข้อ 9 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดใดมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลง ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้ผู้ว่าราชการจัดให้มีการประชุมอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเพื่อคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ในการประชุมคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงจะเป็นองค์ประชุม และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม
ให้อิหม่ามประจำมัสยิดที่มาประชุมคนหนึ่งมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น หรือไม่เกินจำนวนตำแหน่งที่ว่างลงแล้วแต่กรณี
ข้อ 10 ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น ให้ถือว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านั้นได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ข้อ 11 ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนมากกว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น ให้อิหม่ามประจำมัสยิดที่มาประชุมออกเสียงลงคะแนน
ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับลงมาจนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ถ้ามีผู้ได้รับการคัดเลือกได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับตามวรรคสองได้ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากให้ได้ผู้ได้รับการคัดเลือกครบจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น
เมื่อได้ครบจำนวนแล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ดี มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17 (มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ / เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด / เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี / เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด / เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา / เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย / ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ / ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง)
(2) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก
(3) มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก
"อำนาจหน้าที่"กรรมการอิสลามประจำจังหวัด
สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด บัญญัติไว้ในมาตรา 25-27 พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม สรุปว่า กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี เมื่อตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลงก่อนสิ้นวาระให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกิน 180 วัน และยังมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่ได้รับการคัดเลือก จะไม่ให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(2) กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่นตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
(3) ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
(4) กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
(5) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
(6) สอบสวนพิจารณาให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40 (4)
(7) สั่งให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพักหน้าที่ระหว่างถูกสอบสวน
(8) พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การย้าย การรวม และการเลิกมัสยิด
(9) แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในตำแหน่ง อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง
(10) ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่าตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
(11) ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเมื่อได้รับการร้องขอ
(12) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับ รายจ่าย ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และรายงานผลการดำเนินงานฐานะการเงินและทรัพย์สินให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทราบปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
(13) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัด
เปิดแคนดิเดต 3 จังหวัด 6 ทีม
ต้องยอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีสิทธิร่วมคัดเลือกเป็นการทั่วไป ฉะนั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยสาขายะลา สมาคมจันทร์เสี้ยวจังหวัดยะลา ชมรมนักธุรกิจจังหวัดยะลา และองค์กรภาคประชาชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนาในหัวข้อ "บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่อการพัฒนาสังคม" ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยภายในงานได้เปิดให้ผู้ที่เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้แถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ ตลอดจนรณรงค์ให้กระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย
นายนิมุ มะกาเจ ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ซึ่งไปร่วมการเสวนาด้วย กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมที่เสนอตัวเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 ทีม กล่าวคือ
จ.ยะลา ได้แก่ ทีมอามานะห์ หรือทีมของนายวันอับดุลกอเดร์ แวมุสตอฟา กับทีมของ นายอับดุลเราะแม เจะแซ
จ.ปัตตานี ได้แก่ ทีมของ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่กำลังจะหมดวาระ กับทีมของ นายนิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี
จ.นราธิวาส ได้แก่ ทีมของ นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กับทีมของ นายนิแวอาลี หะยีดอเลาะห์ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดนราธิวาส
"คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทแก้ไขปัญหาหลากหลายในท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับอาหารฮาลาล รวมทั้งสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" นายนิมุ กล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-4 บรรยากาศการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่อการพัฒนาสังคม" ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)