ผู้บริหารสื่อชี้รอบ 1 ปี หลายสำนักเจออุปสรรคเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ ชี้รอบ 1 ปี สื่อเจออุปสรรคเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หลายสำนักถูกคุกคาม แนะต้องกล้าทะลายกำแพงความกลัว แม้กระทบผู้มีอำนาจ พร้อมดึงตัวเองขึ้นจากสภาวการณ์เซ็นเซอร์
วันที่ 17 ธันวาคม 2558 มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง จัดสัมมนาประจำปี หัวข้อ “สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย ปี 2558” ณ โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท กล่าวในหัวข้ออภิปรายย่อย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ว่า 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีอุปสรรคมาก สื่อบางสำนักถูกคุกคาม แต่ประชาไทไม่ได้เผชิญกับการคุกคามโดยตรง หากเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“ผมตั้งคำถามเช่นกันว่า เหตุใดประชาไทจึงไม่ถูกคุกคามเหมือนสื่ออื่น ๆ อาจเพราะ IMPACT ไม่เยอะเท่ากับสื่อกระแสหลัก หรือยังจับผิดไม่ได้ แต่ระยะหลังก็เจอเรื่องหนักเช่นกัน อย่างเช่น การไม่ต้องการให้นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน”
ทั้งนี้ ประชาไทมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ มีเพื่อนจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนในต่างประเทศ ดังนั้น หากรัฐบาลดำเนินการอาจถูกแรงกดดันได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความกังวลว่า สื่อกำลังจะถูกดำเนินการจากกฎหมายอันเรียบง่ายที่คาดไม่ถึง อาทิ การหมิ่นประมาทบุคคล
นายชูวัส กล่าวเพิ่มเติมถึงการเลือกข้อมูลข่าวสารว่า ต้องดูมีหรือไม่ ใช้ได้หรือไม่ มีการเคลื่อนไหวหรือไม่ อธิบายได้หรือไม่ และจะต้องอาศัยการสังเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น เช่น กระบวนการ บันทึกการประชุม การตั้งข้อสังเกต หรือข้อมูลเปรียบเทียบ จนมากพอที่จะทำให้คนวิเคราะห์ข้อมูลสามารถนำไปอธิบายได้ ยกตัวอย่าง การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งปัจจุบันอาจหาได้ยากมากขึ้น เพราะต้องประกอบกันหลายด้าน
“สิ่งสำคัญ คือ เรากล้าหรือไม่ เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ได้มาอาจกระทบกับผู้มีอำนาจพอสมควร โดยอุปสรรคมากที่สุดสำหรับข้อมูลข่าวสาร คือ คุณจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องฝ่าด่านทลายกำแพงความกลัว และไม่ให้ตัวเองตกอยู่ภายใต้ภาวการณ์เซ็นเซอร์” บรรณาธิการอำนวยการฯ กล่าว และว่า สิ่งที่รัฐบาลกระทำกับสื่อกระแสหลัก สื่อโทรทัศน์ คือ มีการขอให้ถอดรายการ ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความผิดอะไรมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำตาม คือ มีการเล่นตัวบุคคล จนทำให้เกิดกระบวนการกลัว และการเซ็นเซอร์ตามมาอย่างว่าง่าย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์มติชน