กก.ค่าจ้างยันปีนี้ไม่ปรับค่าแรงตามนโยบายหาเสียง “มาร์ค”
ยัน คกก.ไตรภาคีควรตัดสินใจอิสระไม่มีการเมืองแทรก แนะนายกฯสั่งการตามระบบไม่ใช่หาเสียง แจงผลกระทบเงินเฟ้อ-ของแพง-นายจ้างหันหาแรงงานต่างด้าว-ลูกจ้างเดือดร้อน ปลัดแรงงานฯเผยยังไม่มีคำสั่ง ปกติปรับปีละครั้ง
นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่าจากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายขึ้นค่าจ้างให้มากกว่า 300 บาท/วัน ขณะนี้ได้หารือในคณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างและมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างอีกในปีนี้ เนื่องจากเพิ่งมีการปรับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 54 และผู้ประกอบการก็ยังไม่ทันตั้งหลัก
นายปัณณพงศ์ กล่าวว่าไม่อยากให้เอาเรื่องค่าจ้างมาเป็นประเด็นหาเสียงการเมืองและควรปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของกรรมการค่าจ้างตัดสินใจอย่างอิสระโดยไม่มีการเมืองแทรกแซง หากมีนโยบายใดก็ควรสั่งการผ่านกระทรวงแรงงาน ผ่านตัวแทนภาครัฐที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการค่าจ้าง แต่ไม่ควรประกาศล่วงหน้า เพราะจะมีผลกระทบตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ราคาสินค้าและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
"ไม่ทราบว่านายกฯต้องการปรับค่าจ้างอีกในเดือนไหน แต่ฝ่ายนายจ้างคุยกันแล้วยืนยันว่าปีนี้ไม่มีปรับอีก จะหาเสียงก็หาไปแต่ทำแบบนี้ถามว่าเอกชนรับภาระไหวไหม พูดแบบนี้ราคาสินค้าก็ขยับขึ้น ผู้ประกอบการจะหันไปหาแรงงานต่างด้าวและลูกจ้างก็จะได้รับผลกระทบเรื่องค่าครองชีพ" นายปัณณพงศ์กล่าว
นายปัณณพงศ์ กล่าวว่าหากจะบอกว่าปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องค่าครองชีพ รัฐบาลต้องไปคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น ไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อไล่ตามค่าครองชีพไม่มีที่สิ้นสุด
ด้านน.พ.สม เกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้โดยตรงจากนายกรัฐมนตรี หรือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตามปกติแล้วจะมีการพิจารณาปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง แต่บางปีก็เคยมีการปรับถึง 2 ครั้ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ .
ที่มาภาพ : http://www.bangkok-today.com/node/182