ประวัติ‘พล.ต.อ.วัชรพล’ปธ.ป.ป.ช.ใหม่ -จับตาคดีคนใกล้ชิด คสช.?
“…ถ้าพิจารณาจากเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ชื่อของ ‘บิ๊กกุ้ย’ มีความใกล้ชิดคนตระกูล ‘วงษ์สุวรรณ’ มาโดยตลอด ซึ่งก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างมากช่วงที่ ‘บิ๊กป๊อด’ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร. ก่อนจะเงียบหายไป และกลับมาผงาดอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2557 นำโดย ‘3 ป. บูรพาพยัคฆ์’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประวิตร…”
ในที่สุดก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ !
‘พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ’ หรือทื่สื่อเรียกกันว่า ‘บิ๊กกุ้ย’ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งจากชุดเก่า 4 คน ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และชุดใหม่ 5 คน ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์
ให้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธาน ป.ป.ช.’ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง ขณะที่ ‘ปรีชา’ กรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่า และลูกหม้อในสำนักงาน ป.ป.ช. คู่แข่งชิงเก้าอี้ได้รับคะแนนไปเพียง 2 เสียงเท่านั้น
หลังจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช. จะส่งรายชื่อให้กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำรายชื่อทูลเกล้าฯถวายต่อไป พร้อมกับรายชื่อกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ทั้ง 5 คน
(อ่านประกอบ :พล.ต.อ.วัชรพล นั่ง ปธ.ป.ป.ช.คนใหม่-ปัด คสช.หนุน ลั่นโปร่งใส-ตรวจสอบได้)
‘พล.ต.อ.วัชรพล’ เป็นใคร มาจากไหน ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกแฟ้มประวัติมานำเสนอดังนี้
‘บิ๊กกุ้ย’ จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 29 ปริญญาโทด้านการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา และปริญญาเอกด้านอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต สหรัฐอเมริกา สมรสกับ รศ.ปิยานันท์ ประสารราชกิจ (สกุลเดิม กรุแก้ว)
เส้นทางชีวิตในการรับราชการตำรวจนั้น เริ่มต้นด้วยตำแหน่งผู้ช่วยนายเวรรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ติดยศว่าที่ร้อยตำรวจตรีเป็นรองสารวัตรปราบปราม สน.พญาไท จากนั้นเติบโตมาตามไลน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และเริ่มใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองมากขึ้น ด้วยการเป็นนายเวรอธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น (พล.ต.อ.เภา สารสิน) ต่อมาได้รับหน้าที่ในการดูแลด้านการปราบปรามยาเสพติด
‘บิ๊กกุ้ย’ กลับเข้ามาสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งในปี 2534 ด้วยการเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน) ก่อนที่จะกลับไปสู่การปราบปรามยาเสพติดและกิจการต่างประเทศ กระทั่งเมื่อปี 2546 ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)
ชีวิตมาพลิกผันอีกครั้งหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้านกิจการพิเศษ ต่อมาในปี 2551 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษก สตช. แทนที่ พล.ต.ท.พงษพัศ พงษ์เจริญ ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ขณะนั้น ด้วยเหตุผลว่า มีความเป็นนักวิชาการมากกว่า ต่อมาในปี 2552 ได้รับเลื่อนยศเป็น พล.ต.อ. และดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
กลางปี 2552 หลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เกษียณอายุราชการ ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ไม่สามารถสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้ถึง 2 ครั้ง ทำให้มีข่าวว่า พล.ต.อ.วัชรพล อาจจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อ แต่ ‘บิ๊กกุ้ย’ ปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า มีอาวุโสน้อยสุด
ก่อนจะลาออกจากโฆษก สตช. และเลขา ก.ต.ช. โดยระบุว่า เป็นมารยาท เนื่องจากถูกแต่งตั้งสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อเกษียณไปแล้ว ก็ควรลาออกให้ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. ตั้งใหม่
กลางปี 2553 ‘บิ๊กกุ้ย’ ได้รับการคาดหมายว่าจะกลับเป็น ผบ.ตร. อีกครั้ง หลัง พล.ต.อ.ปทีป เกษียณอายุราชการ เป็นแคนดิเดตคู่กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. (ขณะนั้น) แต่ที่สุดเก้าอี้นี้ตกเป็นของ พล.ต.อ.วิเชียร
กระทั่งการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 อีก 2 วันถัดมา ‘บิ๊กกุ้ย’ ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ถูกคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. อีกครั้งในปี 2557 พร้อมกับนั่งรองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก่อนจะลาออกจาก สนช. และรองเลขาธิการรองนายกฯ เพื่อมาสมัครกรรมการ ป.ป.ช.
ถ้าพิจารณาจากเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ชื่อของ ‘บิ๊กกุ้ย’ มีความใกล้ชิดกับคนตระกูล ‘วงษ์สุวรรณ’ มาโดยตลอด ซึ่งก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างมากช่วงที่ ‘บิ๊กป๊อด’ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร. ก่อนจะเงียบหายไป และกลับมาผงาดอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2557 นำโดย ‘3 ป. บูรพาพยัคฆ์’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประวิตร
และล่าสุด ได้รับความไว้วางใจจากกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. กุมบังเหียนองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อย่างไรก็ดีที่น่าจับตาคือ คดีความของ ‘กองทัพ-คนสนิท คสช.’ ที่ค้างคาอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.
เช่น คดีจัดซื้ออาวุธของกองทัพในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ปรากฏชื่อของ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา
รวมถึงคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ถูกกล่าวหา โดยในการคุมกำลังสลายชุมนุมขณะนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกองทัพบก ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ในขณะนั้นด้วย อีกกรณีคือการจัดซื้อเครื่องมือตรวจจับระเบิด GT 200 ที่ยังค้างคาอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนด้วย
อีกคดีที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว คือกรณีการกล่าวหา ‘โจ๊ก หวานเจี๊ยบ’ หรือ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล คนสนิทของ พล.อ.ประวิตร ที่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ สมัยดำรงตำแหน่ง ผกก.3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ขณะนั้นดำรงยศ พ.ต.ต.) โดยมีพฤติกรรมเรียกรับเงินส่วนจากคาราโอเกะ ซึ่งจเรตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงเมื่อปี 2554-2555 และคณะกรรมการสอบฯ เห็นว่า ปรากฏพยานหลักฐานว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ไม่มีความผิด ซึ่งในปี 2557 ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตของ พล.ต.อ.วัชรพล (ว่าที่) ประธาน ป.ป.ช. คนใหม่ และคดีความของฝ่าย ‘กองทัพ-คนใกล้ชิด คสช.’ ที่ค้างคาอยู่ในชั้น ป.ป.ช.
ต้องรอจับตาดูว่าคดีความดังกล่าวจะมีผลสรุปออกมาในรูปแบบใด และ ป.ป.ช. ภายใต้การกุมบังเหียนของ ‘บิ๊กกุ้ย’ จะเดินไปสู่ทิศทางไหน ?