เปิดเอกสารซักถาม"อับดุลลายิบ"ก่อนตาย รัฐอ้างลงนามยอมรับเป็นแนวร่วมฯ
ปัญหาที่ชายแดนใต้ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 คือ การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหารของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงรายหนึ่งที่จังหวัดปัตตานี โดยญาติผู้ตายไม่เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้ทางราชการต้องตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงรายนี้ คือ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ อายุ 41 ปี ถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน และเสียชีวิตในห้องควบคุมตัว หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม
คณะกรรมการอิสระฯ ที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นมี นายเถกิง ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่องที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยมีกรรมการอื่นๆ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งตัวแทนผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม ศูนย์ทนายความมุสลิม และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ยกเว้นผู้แทนญาติผู้ตายที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เรียกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี, พนักงานอัยการ และนายแพทย์โรงพยาบาลหนองจิกที่ได้ชันสูตรศพเบื้องต้นเข้าให้ปากคำ แต่นายแพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิกไม่ได้เดินทางมา
ภายหลังการประชุม โฆษกคณะกรรมการอิสระฯแถลงว่า จากการสอบสวนตัวแทนทั้ง 4 หน่วยงาน มีข้อมูลตรงกัน คือ ไม่พบร่องรอยการทำร้ายผู้ตาย แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุการตายได้ว่าตายโดยผิดธรรมชาติหรือไม่ ต้องส่งให้หน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 อยู่แล้ว คือการไต่สวนหาสาเหตุการตายเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ คาดว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้นและแถลงต่อสาธารณะได้ในวันที่ 16 ธันวาคมตามกำหนด
หนึ่งในคณะกรรมการอิสระฯ เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารและรูปถ่ายที่มีการตรวจห้องที่พบศพ และผลชันสูตรศพเบื้องต้น มาชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ มีการสอบปากคำญาติของผู้ตาย พบร่องรอยบริเวณใต้รักแร้ แต่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นแผลเก่า ทราบว่าเป็นการผ่าตัด จึงต้องตามไปขอข้อมูลจากแพทย์ที่ผู้ตายเคยไปรักษา ก็จะสามารถบอกได้ว่าผู้ตายเคยป่วยเป็นอะไร
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังมีข้อกังวลเรื่องผลชันสูตรจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งรับชันสูตรศพอย่างละเอียด ว่าผลชันสูตรอาจเสร็จไม่ทันวันแถลง ฉะนั้นคณะกรรมการฯจะเดินทางไปที่โรงพยาบาล เพื่อขอข้อมูลการชันสูตรบางรายการที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
มีอีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตา คือการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) อ้างว่า ผู้ตายลงชื่อยอมรับสารภาพในเอกสารดำเนินกรรมวิธีซักถาม ว่าเข้าร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรงจริง และยอมรับสารภาพว่าเคยร่วมก่อเหตุรุนแรงด้วย โดยหนึ่งในคณะกรรมการอิสระฯ เผยว่า คณะกรรมการฯยังไม่เห็นเอกสารชุดนี้ หากเจ้าหน้าที่นำมาแสดงต่อคณะกรรมการฯได้ ก็จะเป็นเรื่องดี และจะทำให้การตรวจสอบรอบด้านขึ้น
สำหรับเอกสารรายงานผลการดำเนินกรรมวิธีซักถาม ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอ้างถึงนั้น ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย รวมทั้งญาติผู้ตาย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าผู้ตายยอมรับสารภาพว่าเข้าร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรง
"ทีมข่าวอิศรา" ติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ กระทั่งได้ข้อมูลว่าเอกสารสรุปรายงานดำเนินกรรมวิธีซักถาม นายอับดุลลายิบ มีทั้งสิ้น 4 ฉบับ ลงวันที่ 16, 22, 29 พฤศจิกายน และวันที่ 3 ธันวาคม เนื้อหาแต่ละฉบับแตกต่างกันเล็กน้อย เป็นลักษณะความคืบหน้าการซักถามและข้อมูลที่ได้จากการซักถามเพิ่มขึ้นหรือชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
โดยเอกสารฉบับแรก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน ความยาว 30 หน้า ส่วนใหญ่เป็นประวัติของ นายอับดุลลายิบ ทั้งชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การศึกษา สถานภาพการสมรส และมีข้อความระบุว่า นายอับดุลลายิบ ยอมรับว่าเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรนแรง เคยซุมเปาะ (สาบาน) กับอุสตาซรายหนึ่งในพื้นที่ และเข้าฝึกหลักสูตรอาร์เคเคในจังหวัดปัตตานี มีการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกและการเป็นสมาชิกในขบวนการ ตลอดจนสาธิตรูปแบบการฝึก แต่ปฏิเสธว่าไม่เคยร่วมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่
ตอนท้ายของเอกสารฉบับแรก ยังมีข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินกรรมวิธีว่า นายอับดุลลายิบ มีท่าทีวิตกกังวลและหวาดระแวงอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่เข้าใจระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนในเอกสารฉบับที่ 2 และ 3 ลงวันที่ 22 และ 29 พฤศจิกายน ระบุว่า นายอับดุลลายิบ เริ่มยอมรับว่าเคยก่อเหตุในลักษณะก่อกวน เช่น เผายางรถยนต์ พ่นข้อความบนพื้นถนน เมื่อปี 2543 ในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และมีการเข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมก่อเหตุรุนแรงในลักษณะโจมตีฐานปฏิบัติการ เมื่อปี 2557 แต่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้ร่วมก่อเหตุด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับไม่มีลายเซ็น หรือการลงลายมือชื่อท้ายเอกสาร
ส่วนเอกสารฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนที่นายอับดุลลายิบเสียชีวิตเพียง 1 วัน มีเนื้อหาคล้ายๆ 3 ฉบับแรกรวมกัน แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น โดยยอมรับว่าเคยก่อเหตุรุนแรงด้วยการซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2547 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และมีการลงลายมือชื่อท้ายเอกสารทุกหน้าว่า "อับดุลลายิบ" เป็นตัวเขียนด้วยปากกาหมึกน้ำเงิน แต่ไม่มีนามสกุล โดยเอกสารทุกใบลงวันที่ 3 ธันวาคม เป็นตัวเขียนด้วยปากกาหมึกน้ำเงินเช่นกัน และวันที่เป็นเลขไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสารที่อ้างว่าเป็นผลการดำเนินกรรมวิธีซักถาม นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ โดยในวงกลมสีแดง เป็นลายมือชื่อที่เขียนว่า "อับดุลลายิบ" ในเอกสารฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนเสียชีวิต 1 วัน