จับประเด็นร้อน!ห้องเรียนอัจฉริยะฉาวยุค 'ปู' ใครกัน คนใกล้ชิดส.ส.โผล่จัดงบ ?
"...มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ให้โรงเรียนเลือกว่าจะรับโครงการนี้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งโรงเรียนเลือกรับโครงการทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ในระบบงานซอฟต์แวร์ เนื่องจากต้องการพัฒนาโรงเรียน..."
กำลังเป็นเรื่องใหญ่ของคนในแวดวงการศึกษาไทย!
เมื่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ( E – Library) ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้งบประมาณ 342,500,000 บาท จากงบแปรญัตติ ปี 2555 (ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) จัดสรรให้กับโรงเรียนจำนวน 100 แห่ง อย่างเป็นทางการ
โดยระบุชัดเจนว่า พบความผิดปกติ ไม่โปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณจนถึงการดำเนินโครงการ
เบื้องต้น สามารถแยกออกเป็นประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1. โครงการดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นจากความต้องการ ความจำเป็น ความขาดแคลน ของโรงเรียนอย่างแท้จริง แต่ได้มีการระบุชื่อโรงเรียนไว้ก่อนแล้ว
2. มีการกำหนดราคากลางสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น และกำหนดราคากลางซ้ำซ้อนทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงินรวมประมาณ 173,806,790 บาท
3. มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง รวมทั้งมีพฤติการณ์สมยอมการเสนอราคาและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
4. มีครุภัณฑ์ที่จัดซื้อแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเงิน 26,686,000 บาท
ทั้งนี้ ข้อมูลผลสอบของสตง.ที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดครั้งนี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อมูลผลการตรวจสอบรวมกันของตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ป.ป.ท. , สตง. และภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและคอรัปชั่นของชาติ หรือ ภตช. ที่เคยรวมกันตรวจสอบการดำเนินโครงการในช่วงปีงบประมาณ 2555-2556 ของ สพฐ.
ก่อนจะชี้ว่า การดำเนินงานโครงการอาจมีการเข้าข่ายทุจริต
โดยผลการตรวจสอบในครั้งนั้น พบว่า การตั้งราคาจัดซื้อสินค้นในโครงการ มีราคาแพงเกินจริงกว่า 1 เท่า อุปกรณ์บางส่วนในห้องเรียน-ห้องสมุดอัจฉริยะไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งที่เพิ่งก่อสร้างได้เพียง 2 ปี
ขณะที่งบประมาณที่นำมาใช้สูงถึง 2.5 ล้านบาท เป็นงบฯที่ สพฐ.ได้รับจากการแปรญัตติของกลุ่ม ส.ส.ในช่วงปีงบฯ 2555-2556 เดิมแปรญัตติเป็นงบฯซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554 ก่อนถูกเปลี่ยนมาเป็นงบโครงการห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องสมุดอัจฉริยะ และก่อสร้างสนามฟุตซอลในหลายโรงเรียนทั่วทุกภาค
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่า สพฐ.ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบดำเนินงานมาเป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสร้างห้องเรียนอัจฉริยะในปีงบฯ 2556 จำนวน 225 โรงเรียน ในราคาห้องเรียนละ 927,000 บาท โดยมีบริษัทได้รับสัมปทานเพียงเเค่รายเดียว ซึ่ง สตง.ได้ตรวจสอบพบว่า ราคากลางอยู่ที่ห้องเรียนละไม่เกิน 400,000 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในผลการตรวจสอบของ สตง. ที่เพิ่งประกาศออกมาเป็นทางการล่าสุด มีประเด็นใหม่ ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลที่ไหนมาก่อน และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ กรณีที่มีบุคคลอ้างว่าเป็นผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ให้โรงเรียนเลือกว่าจะรับโครงการนี้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งโรงเรียนเลือกรับโครงการทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ในระบบงานซอฟต์แวร์ เนื่องจากต้องการพัฒนาโรงเรียน
สตง.ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะผูกขาด โดยพฤติการณ์ของผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่า งบแปรญัตติเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องดำเนินการตามรายละเอียด TOR และคุณลักษณะเฉพาะที่โครงการกำหนดเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดใด ๆ ได้ ทำให้โรงเรียนบางแห่งไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องขอคืนงบประมาณ
ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการในการดำเนินการโครงการนี้ มีการวางแผนเตรียมงานไว้ล่วงหน้าแล้ว และน่าจะมีฝ่ายการเมืองบางรายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ส่วน "ผู้ประสานงานของส.ส." ที่ถูกระบุว่าเข้ามาเกี่ยวข้องในโครงการนี้จะเป็นใครนั้น และทำไมถึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดเลือกโรงเรียนให้เข้ามารับงบประมาณ
อดใจรอกันอีกไม่นาน สาธารณชนคงได้ทราบคำตอบที่ชัดเจนในเร็ววันนี้
(อ่านประกอบ : รัฐเสียหาย 178 ล. คนใกล้ชิด ส.ส. เอี่ยว! สตง.สรุปผลสอบห้องเรียนอัจฉริยะ ยุค "ปู")