จับตาทิศทางพลังงานไทยกับคำสัญญาในเวที COP21
"ภาคใต้ทั้งภาคใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียง 2,500 เมกกะวัต แต่ไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40% หรือประมาณกว่า 10,000 เมกกะวัต แล้วทำไมจึงยังจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งด้วย"
ในเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงจุดยืนว่าประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ 20-25% ภายในปี 2030 โดยจะมีมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่
หลายคนได้ยินอย่างนี้ก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง กับความหวังในการลดการใช้พลังงานของไทย แต่เมื่อมองในความจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะในแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือPDP ฉบับล่าสุดนั้นพบว่า รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีกสองแห่ง ทั้งในจังหวัดกระบี่ และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
เหตุุผลที่นำมากล่าวอ้าง คือ ไทยมีพลังงานไม่พอใช้ และจะทำให้ไฟฟ้าในภาคใต้ขาดแคลน รวมไปถึงวาทกรรมถ่านหินสะอาด
หลายคนอาจสงสัยว่าจริงๆ แล้ว เรามีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดนั้นเลยหรือไม่ แล้วเราจะมีไฟฟ้าไม่พอใช้จริงหรือ ?
เรื่องนี้ อาจารย์สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่ม Energy Watch ได้เผยในเวทีเสวนาเรื่อง "ถ่านหิน.. สะอาดและจำเป็นแค่ไหนในบริบทโลกร้อน?" ว่า แผนแม่บทฉบับนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ที่มีกำลังผลิต 800 เมกกะวัตต์ และที่เทพา จังหวัดสงขลา อีก 2,200 เมกกะวัตต์ รวมกับ 3,000เมกกะวัตต์
ซึ่งหากดูกันจริงๆ แล้ว ภาคใต้ทั้งภาค ใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียง 2,500 เมกกะวัตต์ บวกกับไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40% หรือประมาณกว่า 10,000 เมกกะวัตต์
ขณะเดียวกัน การใช้ไฟมากสูงสุดของปีที่เเล้วในเดือนมิถุนายนนั้น พบว่า มีอัตราอยู่ที่ 27,000 เมกกะวัตต์ ในส่วนโรงไฟฟ้าในบ้านเราปัจจุบันสามารถผลิตได้ 37,000 เมกกะวัตต์ เท่ากับว่า ไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองที่เหลือเฟือมาก
อาจารย์สันติ ชี้ว่า นโยบายพลังงานสำรองแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ของไทย การที่ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำหนดคือ ต้องมีไฟฟ้าสำรอง15% จากอัตราการใช้ไฟสูงสุด แต่กลับพบว่า ไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40% นั้นกลายเป็นว่า ภาระในค่าใช้จ่ายตกมาที่ประชาชน และเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี
สถานการณ์ตอนนี้มีการออกแผนแม่บทฉบับใหม่ ที่เรียกว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 ถามว่า ทำไมออกแผนฉบับใหม่ ในเมื่อฉบับเก่าก็ดีอยู่เเล้วและมีไฟฟ้าเหลือกว่า 10,000 เมกกะวัตต์
"ตามการคาดการณ์ถึงความต้องการไฟฟ้าของไทย บวกกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง รวมถึงนโยบายจะลดการใช้พลังงาน แต่ทำไมถึงต้องมีการสำรองไฟฟ้ามากขนาดนั้น อย่างในแผนใหม่นี้ จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากกว่าเดิมอีก ทั้งที่เราจะประหยัดมากขึ้น เราจะอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น ทำไมต้องสร้างเพิ่ม” อาจารย์สันติ ตั้งคำถาม ก่อนจะชี้ว่า หากดูแผนฉบับนี้ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และดูปริมาณสำรองที่มีอยู่ของไทยตอนนี้ ก็ชัดเจนเลยว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยในการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้ แล้วทำไมถึงกำหนดให้สร้างในช่วงนี้ "เพราะถ้าไม่สร้างตอนนี้ โอกาสในการสร้างจะยากขึ้นนั่นเอง"
ประด็นที่ว่าภาคใต้นั้นไฟฟ้าไม่พอใช้ แต่ในความเป็นจริงนั้น มีพอแน่นอน และเมื่อเร็วๆ นี้โรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 เพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 700 เมกกะวัตต์ ซึ่งมากมายมหาศาลแล้วสำหรับภาคใต้ที่ใช้สูงสุดที่ 2,500 เมกกะวัตต์ ปีหน้าโรงไฟฟ้าขนอมก็จะเริ่มเฟสต่อไปอีก ซึ่งนั่นก็เยอะมาก และยังมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ภาคกลางที่มีกำลังการผลิตที่เหลือเฟือ เราจะเก็บไว้ทำไม ทำไมไม่ส่งลงใต้ในเมื่อบอกว่าใต้ไฟจะไม่พอ
"เมืองไทยเวลาคิด คิดทั้งประเทศเป็นระบบเดียว แต่เวลาจะผลักดันโรงไฟฟ้า จะคิดเฉพาะส่วน”
หากเราไปมองในแง่ว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของพื้นที่นั้นๆ ลองมองกรุงเทพฯ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าสองแห่ง กำลังการผลิตเพียง 2,000 เมกกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้กว่า 10,000 เมกกะวัตต์ จาก27,000 เมกกะวัตต์ กรุงเทพใช้ไปแล้ว 10,000 เมกกะวัตต์ ส่วนภาคใต้มีโรงไฟฟ้ากว่า 3,000 เมกกะวัตต์ แต่อัตราการใช้เพียง 2,500 เมกกะวัตต์ เท่านั้นเอง
"ถามว่าถ้าจะมองกันเฉพาะพื้นที่เหมือนที่ทางรัฐกำลังทำอยู่ พื้นที่ไหนกันแน่ที่ต้องการไฟฟ้าแล้วทำไมไม่สร้างซะเลยในพื้นที่นั้น”
และที่ย้อนแย้งมากกับภาครัฐของไทย คือ ในขณะที่พยายามบอกว่า ภาคใต้จะมีไฟฟ้าไม่พอใช้ต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสอง แต่เรากลับบอกว่าเราจะส่งไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่มากไปขายที่เมียนมา
อย่างตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้าที่ไม่พร้อมใช้งานกว่า 9,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าไม่พร้อมใช้คือ สมมุติว่า โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งมีกำลังการผลิต 100 เมกกะวัตต์ แต่ในบางช่วงประสิทธิภาพอาจไม่เต็ม 100% อาจผลิตได้เพียง 80% ดังนั้น อีก 20% ก็ถือว่าไม่พร้อมใช้งาน
ปัญหาคือทำไมถึงเหลือเยอะขนาดนั้นถึง 9,000 เมกกะวัตต์ ในเมื่อเป็นปัญหาในเชิงระบบ ทำไมไม่มีการจัดการในเชิงระบบ แต่กลับต้องสร้างเพิ่มอีก
ในขณะเดียวกันที่มีการบอกว่า ไทยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไปจำเป็นจึงต้องหาแหล่งพลังงานเข้ามาสำรองไว้ เรื่องนี้ นางสาวฝ้ายคำ หาญณรงค์ คณะทำงานจากกลุ่ม climate justice ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมทางเลือกที่จะเอามาสำรองใช้ต้องเป็นถ่านหิน
"การบอกว่า ถ่านหินถูก ถามว่าถูกจริงไหม เพราะในเมื่อมันมีราคาค่างวดทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ยังไม่ได้จ่ายเยอะมาก และในเชิงของการลดภาวะโลกร้อน เราต่างก็รู้กันอยู่เเล้วว่า ไม่ควรมีการเผาเพิ่มอีก เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกว่า หากเราจะเดินไปในอนาคต เรื่องพลังงาน แทนที่เราจะเอาเงินไปลงทุนในเรื่องที่ไม่ได้เรื่องอย่างการโฆษณาต่างๆ เอามาจัดการในเรื่องการลดใช้พลังงานฟอสซิล และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จะดีกว่า"
"แน่นอนเวลาพูดถึงพลังงานทางเลือกต่างๆต้องพูดถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเเสงอาทิตย์ พลังงานลม อย่างปัจจุบันมีการพัฒนาให้กังหันเล็กลงและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น หรือแม้แต่โซลาเซลล์ที่ราคาถูกลง ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนเทคโนโลยีเหล่านั้น แต่คือการขาดความตั้งใจทางการเมือง ทางนโยบาย" เธอกล่าว
"ถ้าหากคุณดูว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในระดับวิกฤตขนาดไหน คำถามจะไม่ได้อยู่แค่ว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนพอไหม เพราะทางเดียวที่เราจะรอด คือการเลิกเผาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล"
ด้านดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีหลายคนอาจแย้งมาว่า พลังงานเหล่านั้นไม่แน่นอน มีราคาแพง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น คนไทยต้องจ่ายแพงขึ้น
ดร.อาภา มองว่า เป็นเรื่องที่ล้าสมัยเอามากๆ กับการกล่าวว่า มีราคาแพง เพราะปัจจุบันราคาของอุปกรณ์เหล่านี้ถูกลงมากหากเทียบกับหลายสิบปีก่อน
“อย่างที่เยอรมนี ซึ่งอยู่ในเขตหนาวแต่กลับมีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากถึง 28% เทียบเป็น 1 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าในไทย ซึ่งหากเทียบแสงแดดของเขากับของเรา บ้านเราแดดแรงกว่ามาก ดังนั้นปัญหาของไทยคือนโยบายที่ผูกขาด ไม่ยอมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างในญี่ปุ่นมีการกำหนดเอาไว้ว่าอุณหภูมิในอาคารควรไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าการใช้พลังงานในประเทศลดทันที
กลับกัน ในบ้านเราไม่มีนโยบายเช่นนี้อยู่เลย แต่เรากลับไปเปิดช่องให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มขึ้น เราไม่ส่งเสริมให้คนใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้
ข้อดีของพลังงานหมุนเวียนคือมีหลายขนาด ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทุกที่ และข้อกังวลที่ว่า แดดจะออกไม่ออก กลางคืน หรือลมไม่มี ตอนนี้มีการผลิตแบตเตอรี่ที่มาสามารถกักเก็บพลังงานเหล่านั้นไว้ได้และเทคโนโลยีด้านนี้พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพออกมามากมาย และที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม"
ดร.อาภา ชี้ด้วยว่า ปัจจุบันเยอรมนี ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% นั้นแสดงว่าเทคโนโลยีสามารถจัดการได้ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ไฟฟ้าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมงในหลายประเทศ ส่วนต้นทุนที่บอกว่า แพงๆ นั้น ปัจจุบันบางรัฐของสหรัฐอเมริกา พลังงานหมุนเวียนถูกกว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ในอีก10 ปีข้างหน้านี้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เห็นว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกเลย และระหว่างนั้น เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนก็จะก้าวไปในระดับที่สูงขึ้น
"เอาเวลาเหล่านี้มาพัฒนาเพื่อรองรับเทคโนโลยีสะอาดจะดีกว่า ประเทศเราจะพัฒนาไปในทิศทางไหน เราต้องมาคิดด้วยว่าเราจะจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างไร ไม่ให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ด้วย แต่ประเทศนี้เป็นประเทศที่เวลาพูดอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำก็อีกอย่างหนึ่ง” ดร.อาภา ทิ้งประเด็นให้ฉุกคิด
การประชุม COP21 ใกล้จะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และดูเหมือนว่าใจความสำคัญจะอยู่ที่การลดใช้พลังงานเพื่อไม่ให้โลกร้อนจนแตะ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงหายนะของมนุษยชาติ ซึ่งต้องมาดูกันต่อไปว่า ทิศทางเรื่องพลังงานจากรัฐบาลไทยนั้นจะไปในทิศไหน จะเป็นไปตามที่ได้สัญญาในเวที COP21 หรือไม่ ?...
ขอบคุณภาพประกอบหัวเรื่องจาก http://www.vcharkarn.com/