ข้าวไรซ์เบอร์รี่..บ้านด่านช้าง จ.เพชรบูรณ์ รายได้พอเพียงเกวียนละ 3 หมื่น
"ถามว่า ทั้งตำบลนี้ใครเริ่มนี่เริ่มก่อน ไม่ได้ชักชวน แต่ทำให้เขาเห็น ขายให้เขาเห็น โดยลงทุนประมาณไร่ละ 2 พันกว่าบาท ขายได้เกวียนละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท”
ภาพแปลงนาข้าวไรซ์เบอรี่ อวดรวงสีม่วงเต็มพื้นที่กว่า 20 ไร่ ของนางสุมนทา ขุนทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านด่านช้าง ตำบลท้ายดง อำเภอ วังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมรอการเก็บเกี่ยวในกิจกรรม "ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ ประจำปี 2558" ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง และบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้นเป็นปีที่ 3
ผืนนาแห่งนี้ ถือเป็นต้นแบบพื้นที่ทำการเกษตรปลอดสารเคมีให้กับคนในอำเภอวังโป่ง ได้กล้าเดินตาม
ผู้ใหญ่สุมนทา เกษตรกรดีเด่น สาขาทำนา จังหวัดเพชรบูรณ์ วัย 40 ปี ลูกชาวนาโดยแท้ เธอเคยหมดเงินต้องตัดสินใจขายนาบางส่วนไป หลังจากลงทุนกับพี่ชายทำรถสิบล้อรถแมคโคร ตักดิน จนเป็นหนี้เป็นสิน
ปัจจุบัน เธอหันมาทำนาจริงๆ จังๆ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยปีแรกๆ ได้ผลผลิต 9 เกวียน ผู้ใหญ่สุมนทา บอกว่า เก็บไว้กินเองหมด จากนั้นจึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ และมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านด่านช้างขึ้น ถึงวันนี้มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 25 คนแล้ว
ส่วนการหาตลาดมารองรับ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวสุขภาพ คุณสมบัติเด่นด้านโภชนาการที่กำลังเป็นที่นิยมนั้น คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน แกมมาโอโรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี และโฟแลตสูง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ - ปานกลาง นอกจากนี้ เส้นใยอาหาร (Fiber) ยังมีอยู่มากในข้าวไรซ์เบอรี่ ช่วยลดไขมัน และคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก และระบบขับถ่าย
ผู้ใหญ่สุมนทา บอกว่า ทางบริษัทอัคราฯ จะหาสถานที่จำหน่ายให้ ทั้งที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลาดเส้นทางเศรษฐี รวมถึงที่กระทรวงพาณิชย์ ตกกิโลกรัมละ 70 บาท หรือเกวียนละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท
เธอยืนยันว่า ดีกว่าขายข้าวปกติเกวียนละ 7- 8 พันบาท "ถามว่า ทั้งตำบลนี้ใครเริ่ม นี่เริ่มก่อน ไม่ได้ชักชวนแต่ทำให้เขาเห็น ขายให้เขาเห็น โดยลงทุนประมาณไร่ละ 2 พันกว่าบาท”
และภายหลังที่รัฐบาลคลอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่ตำบลทั่วประเทศแห่งละ 5 ล้าน กลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านด่านช้าง ก็ได้งบนี้เช่นกัน เพราะมีการรวมกลุ่ม และทำอยู่แล้ว "สีเอง ขายเอง" โดยนำเงินตำบลละ 5 บ้านมาสร้างโรงสีข้าว รายได้จากการสีข้าว เธอบอกว่า จะนำมาเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกในเครือข่าย
ในอนาคตผู้ใหญ่สุมนทา กำลังต่อยอดสู่การปลูกพืชผักปลอดสารเคมี รวมถึงลงแปลงหญ้าแฝก โดยนำรากมาผลิตเป็นปุ๋ยต่อไป
เมื่อถามถึง แปลงนาอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบเหมืองทองแร่ทองคำชาตรี มีความกังวลใจอะไรหรือไม่ เธอยืนยันว่า มีบ้าง สงสัยนิดหน่อย แต่ชาวบ้านแถวนี้ไม่ได้กลัว เพราะใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ใช้หญ้าแฝก ปลูกเป็นแนวกันชนระหว่างนาข้างเคียงที่ยังไม่ได้ทำนาอินทรีย์ด้วย
“รวงข้าวไรซ์เบอรี่ที่นาผมเมล็ดใหญ่กว่านี้อีก ผมใช้น้ำหมักชีวภาพ ผมเพิ่งปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ 25 ไร่ เป็นปีแรก นี่ก็ยังไม่รู้จะได้สักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้ 60-70 ถัง (ข้าวสาร 1 ถัง มีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม)”
วรรณลพ ถนอมผล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านวังชะนาง ตำบลท้ายดง อำเภอ วังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ วัย 49 ปี พูดคุยกับเรา ขณะยืนหลบแดดอยู่บนคันนา หลังเสร็จจากการร่วมพิธีเชิญแม่โพสพขึ้นจากนา และลงแขกเกี่ยวข้าวไรซ์เบอรรี่ปลอดสารพิษแปลงนาของผู้ใหญ่สุมนทา
แรกเริ่มเดิมทีผู้ใหญ่วรรณลพ ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ปีนี้เป็นปีแรกที่หันมาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ปลอดสารพิษ ตามแบบอย่างผู้ใหญ่สุมนทา
เมื่อถามถึงตัวเลขการลงทุนทำนาแต่ละครั้ง เขาบอกว่า ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายหมดไปกับดำนาแพงหน่อย 2 หมื่นกว่าบาท ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ ก็ลดไปได้ถึงครึ่ง เมื่อไปเทียบกับการทำนาที่ใช้ปุ๋ยเคมี การฉีดปุ๋ยก็ไม่ต้องกลัวอันตรายอีกแล้ว ไม่ต้องปิดหน้าปิดตาเหมือนแต่ก่อน
และเมื่อถามถึงเรื่องน้ำ ผู้ใหญ่วรรณลพ ชี้ว่า ก็ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่ทางการประกาศงดทำนาเพราะมีปัญหาภัยแล้ง เพราะที่นี่มีบ่อบาดาล 3-4 บ่อ”
สำหรับราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ แม้ราคาจะแพงกว่าข้าวปกติเยอะมาก แต่ของผู้ใหญ่วรรณลพ นำเมล็ดพันธุ์มาจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ โดยมีเงื่อนไข “คืนเมล็ดพันธุ์ครึ่งหนึ่ง” 1 ถังมี 10 กิโลกรัม ทำนาได้ 1 ไร่ หากไปหาซื้อก็ตกราคาถังละ 1 พันบาท
การเพาะปลูกข้าวปลอดสารพิษ นับเป็นการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “ปกรณ์ ตั้งใจตรง” นายอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เชื่อว่า การที่ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาส่งเสริม ให้องค์ความรู้ และหาช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร จะยิ่งทำให้ "ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านด่านช้าง" ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น