“ถอดบทเรียนภัยพิบัติด้ามขวาน” ย้อนมองรัฐกู้อุทกภัยภาคกลาง
นี่คือเสียงสะท้อนจากการเฝ้ามองภาครัฐหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมภาคกลาง พร้อมข้อเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมาของเครือข่ายผู้ประสบภัยภาคใต้....
....................................
เสียงแผดก้องจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ดังไปทั่วคุ้งน้ำด้านหน้าเดอะมอลล์บางแค เรือหางยาวลำแล้วลำเล่าแหวกกระแสน้ำที่แช่ขังนานกว่า 2 สัปดาห์วิ่งรับส่งผู้ประสบภัยไปยังจุดหมายปลายทาง โดยมีรถเมล์สีชมพูที่แออัดไปด้วยผู้โดยสารค่อยๆเคลื่อนไปได้ช้าๆ ขณะที่ยีเอ็มซีของบุรุษทหารวิ่งทรหดฝ่าสายน้ำ ส่วนผู้คนบนฟุตบาทต่างหอบหิ้วสัมภาระเดินลุยน้ำที่ลึกถึงหน้าอก นี่คือภาพวิถีคนกรุงยามนี้ ที่มิอาจเบี่ยงเบนความจริงที่เป็นอยู่ไปได้ว่ากองทัพน้ำถาโถมเข้าจู่โจมอย่างรุนแรงจนกลายเป็นภัยพิบัติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ในอีกด้านที่งดงาม คือน้ำใจไทยได้หลั่งไหลดั่งปลอบโยน จำนวนนี้รวมถึงผู้คนต่างจังหวัดที่สละแรงกายแรงใจด้วยจิตอาสามาช่วยคลายทุกข์คนกรุงเทพฯและปริมณฑล ดังเช่น “เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวไทยตอนบน” ที่ร่วมกับภาคีทั้งในจังหวัดสมุทรสงคราม บางขุนเทียน ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี นำเสบียงอาหาร น้ำดื่ม เรือ และแพไม้ไผ่ มาช่วยเหลือ
รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด “ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงคนจน”
วรพล ดวงล้อมจันทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผู้ใหญ่หมู” ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน บอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาร่วมกับภาคีเครือข่ายไปตั้งเต็นท์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ปทุมธานี ด้วยเห็นว่าที่นั่นมีผู้ประสบภัยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เนื่องจากบางส่วนเป็นแรงงานต่างด้าว คนพลัดถิ่นที่ไม่มีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน กระทั่งสถานการณ์คลี่คลายจึงย้ายมาตั้งเต็นท์ที่เชิงสะพานบริเวณถนนเพชรเกษมใกล้ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค เพราะเห็นว่าที่นี่หลายจุดที่อยู่ในตรอกซอกซอยความช่วยเหลือภาครัฐเข้าไม่ถึง
“จากการสังเกตทำงานของภาครัฐ ชาวบ้านที่อยู่ลึกๆมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนที่ได้รับความช่วยเหลือคือคนที่อยู่ใกล้ถนน รถผ่านไปผ่านมาก็แจก เราจึงคุยกันว่าอยากเน้นคนที่ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง นอกจากเครือข่ายฯ ยังมีมีชาวบ้านน้ำเค็มที่เคยโดนสึนามิ และเครือข่ายสตรีแม่บ้านที่ปทุมฯซึ่งเป็นผู้ประสบภัยครั้งนี้เหมือนกัน แต่เมื่อน้ำลดเขาก็ตามมาช่วย และมีพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น มูลนิธิชุมชนไทย ชาวบ้านที่ภูเก็ต อุบลฯ หมุนเวียนมาช่วยกัน”
ผู้ใหญ่หมู บอกว่า การทำงานภาคประชาชนหรือชาวบ้านอย่างพวกเขา จะมีทีมไปสำรวจว่าใครเดือดร้อน หรือต้องการความช่วยเหลือแบบไหนก่อน จากนั้นก็จะมีทีมเข้าไปช่วย แต่การทำงานของรัฐบาลต่างคนต่างทำ ถ้าทำงานแบบบูรณาการจริงก็จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
“สิ่งที่ผมเห็นคือต่างคนต่างทำ ยกตัวอย่างกทม.มีของแจกร้อยชุด ตำรวจมีร้อยชุด ทหารมีร้อยชุดก็ไปแจกคนเดิมๆสรุปก็คือแจกได้แค่ร้อยคน คนหนึ่งคนได้ของแจกสามชุด แทนที่จะเป็นคนสามร้อยคน อีกอย่างเขาทำงานรอคำสั่ง เช่นที่ปทุมธานี มีคนป่วยขอร้องให้เจ้าหน้าที่ไปส่งโรงพยาบาล เขาบอกไปไม่ได้เพราะอยู่นอกเส้นทาง ต้องขออนุมัติจากนายเสียก่อน การแก้ปัญหาแบบนี้มันเป็นเรื่องน่าเศร้า”
ถอดบทเรียนการจัดการภัยพิบัติของคนภาคใต้
“ลลิตา บุญช่วย” เลขานุการสภาองค์กรชุมชน ต.ม่อแดง อ.สทิงพระ จ.สงขลา และคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชน จ.สงขลา กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าหลังจากนี้อยากให้รัฐบาลได้ถอดบทเรียนที่ทำไปทั้งหมดว่าถูกต้องไหม มีผลกระทบอะไรบ้าง
เธอบอกว่า หากย้อนไปเมื่อ 1 พ.ย. 53 ที่สงขลา มีการเตือนจากทางการว่าจะมีพายุเข้า ชาวบ้านไม่เชื่อ แต่พอเกิดขึ้นมาจริงๆชาวบ้านแทบตั้งตัวไม่ติด หันไปหาองค์กรท้องถิ่นๆก็ต้องช่วยตัวเองเหมือนกัน ชาวบ้านจึงมีตั้งศูนย์ผู้ประสบภัยที่วัดพิกุล ประชาสัมพันธ์ออกสื่อวิทยุชุมชนระดมความช่วยเหลือรับบริจาคอาหารและอุปกรณ์สร้างบ้านก็มีคนเข้ามาช่วยเยอะ มีแกนนำในจังหวัด อำเภอ ตำบลลงมาช่วยเก็บข้อมูลประสานกับท้องถิ่น ทหารก็เข้ามาช่วย และ พอช.เข้ามาช่วยเรื่องทุน จนวันนี้กลายเป็นเครือข่ายจิตอาสา
“ชุมชนต้องตั้งสติกับเหตุการณ์ให้ได้ มันเกิดครั้งที่หนึ่ง เชื่อไหมว่าครั้งที่สองครั้งที่สามมันต้องเกิดอีก ฉะนั้นการเตรียมตัวของชุมชนสำคัญมาก เราต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งท้องถิ่นทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันว่าจะหามาตรการอย่างไรที่จะรับมือให้ได้ ตอนนี้ 14 จังหวัดภาคใต้ทำหมดเลย เรารับมือกับภัยพิบัติ ช่วยตัวเองได้แล้วต้องช่วยคนข้างๆ ต้องดูแลซึ่งกันและกัน”
ขณะที่ “ผู้ใหญ่หมู” เสริมว่า สึนามิไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด แต่น้ำท่วมกรุงเทพฯภาครัฐรู้แล้ว อุตุฯเตือนแล้ว ถ้าปรับกระบวนการทำงานให้ทัน ภัยตรงนี้จะไม่เกิด ที่ผ่านมาภาคใต้เคยเจอกับภัยพิบัติรุนแรงหลายครั้ง ทุกวันนี้ชาวบ้านมีกระบวนการที่เรียกว่าตั้งรับ มีการฝึกสมาชิกอาสา ฝึกอพยพ ฝึกให้ความช่วยเหลือ ทำแผนที่ทำมือ เมื่อเกิดเหตุจะไปเจอกันที่ไหน อาสาสมัครหนึ่งคนรับผิดชอบกี่หลังคาเรือน และต้องรู้เลยว่าหนึ่งหลังคาเรือนมีคนสูงอายุเท่าไหร่ สามารถเดินได้ไหม ต้องทำรายละเอียดแล้วเก็บไว้หมด เมื่อเกิดเหตุก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ และพยายามให้แต่ละครัวเรือนเตรียมถุงยังชีพ เช่น เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง ยารักษาโรค ถ้าหนึ่งเดือนยังไม่เกิดภัยก็เอาของเก่าในถุงนั้นออกมาแล้วก็เปลี่ยนของใหม่ใส่เข้าไปเพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา
เสียงจากชาวบ้านในศูนย์อพยพนนท์ : นี่คือบททดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า
ชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ แกนนำตำบลสวนใหญ่ นนทบุรี และผู้ประสานงานศูนย์พักพิงสตรีนนท์ กล่าวว่า การหลอมรวมใจสู้ภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญ นนทบุรีมี 6 อำเภอ 52 ตำบล มีเพียงตำบลบางเกลือกับตำบลบางเขนของเกาะเมืองเทศบาลนครนนท์ เกาะเมืองเทศบาลนครปากเกร็ดที่น้ำไม่ท่วม ขณะที่ผู้อพยพที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชุมชนสียา 169 คน เป็นชาย 81 คนหญิง 98 คนเด็กชาย 10 คน เด็กหญิง 78 คน
ชาญณรงค์ บอกว่าศูนย์ฯที่ดีต้องอยู่ใกล้บ้าน มีระบบการจัดการที่ดี มีการแยกแยะลงทะเบียนแยกคนป่วยคนเจ็บ ถ้ามีคนป่วยให้อยู่ข้างล่าง เข้าห้องน้ำบ่อยให้อยู่ใกล้ห้องน้ำ ถ้ามีสุนัขมาด้วยก็จัดสถานที่ให้เฉพาะ สุราห้ามดื่ม บุหรี่ให้สูบข้างนอก เวลาเข้าออก 5 ทุ่มปิด ต้องวางกฎระเบียบ น้ำไฟสำคัญต้องเตรียมไว้ให้พร้อม เวลาได้รับของบริจาคต้องดูว่าอันไหนเน่าเสียไวควรนำมาใช้ก่อน อันไหนควรเก็บตุนเป็นเสบียง
“น้ำมาเดี๋ยวเขาก็ไป สิ่งใหม่ๆมันจะดีกว่าเก่า กทม.อยู่มากี่ปีเคยล้างหนู แมงสาบ สิ่งสกปรกออกไปบ้างหรือยัง ทุกสรรพสิ่งที่เกิดมาในโลกนี้เป็นการถูกทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า แต่หากผู้ใดยอมให้ทดสอบแล้วทดสอบอีก พระเจ้าจะมอบสิ่งดีๆมาให้อีกทวีคูณ เราต้องยอมรับการทดสอบให้ได้” แกนนำตำบลสวนใหญ่ยกคำสอนศาสนาอิสลามกล่าวปิดท้าย
…………………
อีกนานไหมที่เครื่องยนต์เรือหางยาวด้านหน้าเดอะมอลล์บางแคจะเงียบเสียงลง อีกกี่การรอคอยที่ผู้อพยพในศูนย์สตรีนนท์จะได้กลับคืนถิ่นฐาน ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยจะทุเลาเบาบางลงเมื่อไหร่ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่และมวลน้ำมหาศาลมิอาจพังทลายลงได้คือน้ำใจของคนไทยที่มีให้กัน
และกระบวนการจัดการองค์ความรู้ท่ามกลางวิกฤติโดยชุมชน เป็นเสมือนตำราทรงคุณค่าที่สามารถนำไปต่อยอดจัดสรรเป็นแผนรับมือภัยพิบัติได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดอ่านหรือไม่!!??