กก.อิสระฯถกนัดแรกปมตายในค่ายทหาร รัฐแจงเป็นฝ่ายขอนำศพไปผ่าพิสูจน์
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง คาห้องควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ประชุมกันเป็นครั้งแรกแล้วเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2558 หลังได้รับการแต่งตั้งเพียง 1 วัน
ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เสียชีวิต คือ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ อายุ 41 ปี เขาถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากนั้นเขาถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อซักถามข้อมูลตามกระบวนการ กระทั่งถูกพบเป็นศพในห้องควบคุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม
แม้ผลการชันสูตรเบื้องต้นที่แถลงโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ยืนยันว่าไม่พบร่องรอยการต่อสู้หรือถูกทำร้าย แต่ครอบครัวผู้ตาย รวมทั้งบางฝ่ายในพื้นที่ ยังคงเชื่อว่าเป็นการตายที่ผิดปกติ และน่าจะถูกทำให้ตาย
สำหรับการประชุมคณะกรรมการอิสระฯนัดแรก ที่ประชุมได้หารือถึงการแต่งตั้งตัวแทนจากญาติผู้ตายเข้ามาเป็นกรรมการเพิ่มเติม ประกอบด้วย นางกูรอสเมาะ ตูแวบือซา อายุ 34 ปี ภรรยาของนายอับดุลลายิบ และ นายวีฟาอี มอลอ ญาติของนายอับดุลลายิบ จากนั้นได้นัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคม
ทั้งนี้ ในการประชุมนัดที่ 2 คณะกรรมการอิสระฯได้นัดสอบถามข้อมูลจากตัวแทนญาติที่เข้าร่วมพิสูจน์ศพเบื้องต้นครั้งแรกในที่เกิดเหตุ จำนวน 4 ปาก จากนั้นจะเป็นการสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 4 ปาก
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังสรุปอีกว่า ทางคณะกรรมการอิสระฯจะไม่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุอีกแล้ว เนื่องจากมองว่าสามารถนำเอกสาร ภาพถ่าย และพยานหลักฐานอื่นๆ มาพิจารณาได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งกรรมการหลายคนก็มีโอกาสเข้าร่วมชันสูตรศพในที่เกิดเหตุด้วย
นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า ไม่หนักใจกับการตรวจสอบและการทำหน้าที่ คาดว่าระยะเวลา 7 วันที่ได้รับนโยบายมาน่าจะเพียงพอและสรุปผลได้ หากฝ่ายญาติมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมก็สามารถนำมาเสนอต่อที่ประชุมได้ แต่ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง
ขณะที่ นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้อำนวยการสำนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุ กรรมการชุดนี้หลายคนได้เข้าร่วมติดตามกระบวนการชันสูตรศพในที่เกิดเหตุ จึงคิดว่าน่าจะไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้ง
การตั้งคณะกรรมการอิสระฯขึ้นมา เพราะทางญาติตั้งข้อสงสัย 2 ประเด็น คือ 1.เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ตายทำไม และ 2.ญาติไม่เชื่อว่าผู้ตายตายโดยธรรมชาติ ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่า 1.ตายโดยธรรมชาติ 2.ที่มาของการจับกุมเป็นไปตามกฎหมาย
“จริงๆ ในวันเกิดเหตุ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายขอร้องให้มีการนำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (โรงพยาบาล ม.อ.) เพื่อไขข้อข้องใจต่างๆ ทั้งๆ ที่ญาติยืนยันคำขาด ไม่ยอมให้นำศพไปชันสูตร ต่อมามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโทรศัพท์มา เพื่อขอให้มีการชันสูตร จึงไปพูดคุยกับภรรยาและญาติ พร้อมนำมติจากสำนักจุฬาราชมนตรีมายืนยัน ทำให้ภรรยาและญาติผู้ตายยอมให้ผ่าชันสูตรศพ ขณะนี้ก็ต้องรอผลการชันสูตรที่เป็นทางการออกมา” นายกิตติ ระบุ
นายมะ กูปิ ญาติฝ่ายภรรยาผู้ตาย และหนึ่งกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า จากการตรวจดูรายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รู้สึกยังไม่พอใจ เพราะภรรยาผู้ตาย มีรายชื่อที่เธอไว้ใจที่อยากให้เชิญเข้ามา เชื่อว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้มีความยากลำบาก เพราะไม่ง่ายเลยที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ และมีเวลาแค่ 7 วัน ไม่เพียงพอแน่ แต่ก็เชื่อว่าความจริงจะต้องปรากฏไม่วันนี้ก็สักวัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (คนกลาง เสื้อสีเหลือง) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ นัดแรก