ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงดับคาห้องควบคุมตัว – ญาติยังไม่เชื่อตายเอง
วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558 เป็นอีกครั้งที่มีผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 05.30 น. ที่ห้องควบคุม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ค่ายบ่อทอง" เจ้าหน้าที่พบศพ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ อายุ 42 ปี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง นอนเสียชีวิตอยู่ภายในห้องควบคุม สภาพศพนุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ นอนบนพรมละหมาด เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่เวลา 04.30 น.วันเดียวกัน
หลังพบศพ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ญาติและครอบครัว รวมทั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนทนายความ แพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิก องค์กรพัฒนาเอกชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก เข้าร่วมตรวจสอบ พร้อมนำศพไปชั้นสูตรที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (โรงพยาบาล ม.อ.)
กอ.รมน.เร่งแจง-ป้องกันบิดเบือน
ต่อมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีที่ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร ว่า นายอับดุลลายิบ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุมในพื้นที่ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก โดยมีข้อมูลว่า นายอับดุลลายิบ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้า kompi (กองร้อย) และผลการซักถามขั้นต้น นายอับดุลลายิบ ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง และเคยผ่านการซูเป๊าะ (สาบานตามหลักการอิสลาม) ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.หนองจิก และทำการส่งตัว นายอับดุลลายิบ ดำเนินกรรมวิธีซักถาม ที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
การเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ เจ้าหน้าที่ได้เชิญกำลัง 3 ฝ่าย ญาติผู้เสียชีวิต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เข้าทำการตรวจสอบ แต่แพทย์ในพื้นที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ในเมื่อไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อความสบายใจของญาติๆ และประชาชนทั่วไป ที่สำคัญเพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาจนกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีนำไปขยายผลบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงได้ขออนุญาตจากภรรยา นายอับดุลลายิบ นำศพไปทำการผ่าพิสูจน์ที่ โรงพยาบาล ม.อ.หาดใหญ่ โดยทางญาติได้ให้คำยินยอมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ
"ปราโมทย์"ยันไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน .ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายอับดุลลายิบ ผลจากการชั้นสูตรเบื้องต้นโดยมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมปรากฏชัดเจนว่า ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้ แต่ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ขณะที่ พ.อ.ธิรา แดหวา รองผู้บัญชาการค่ายอิงคยุทธบริหาร กล่าวว่า นายอับดุลลายิบ ถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า เขาตืนมาทำพิธีละหมาดเวลา 05.30 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ไปพบว่าเขานอนคว่ำหน้า ข้างๆ ศพมีอัลกุรอานตกอยู่
"อังคณา"หนุนตั้งกรรมการตรวจสอบ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ญาติของนายอับดุลลายิบ เคยมาร้องเรียนที่ กสม.ว่า นายอับดุลลายิบถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนานเกินไป อยากให้มีการตรวจสอบ ส่วนเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกมาชี้แจงพร้อมระบุข้อมูลของนายอับดุลลายิบอย่างละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ นั้น อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวโดยเฉพาะลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงน่าจะใช้ถ้อยคำที่กล่าวหาน้อยกว่านี้ เพราะยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วถ้าเป็นคดีถึงศาล ผลจะออกมาอย่างไร
การนำศพไปชันสูตร ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะสามารถตรวจได้ว่าเสียชีวิตมาหากี่ชั่วโมง มีบาดแผล หรือมีร่องรอยฟกช้ำที่เกิดจากการกระแทกหรือไม่ และเมื่อเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องให้มีไต่ส่วนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และที่สำคัญคือจะมีมาตรการดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
"ต้องดูว่าเขาถูกควบคุมตัว 20 กว่าวัน มีการตรวจร่างกายเป็นประจำหรือไม่ช่วงที่ถูกควบคุม มีอาการเบื่ออาหารบ้างไหม เมื่อเขาบอกว่าเหนื่อย ไม่ไหว หรือป่วย เขาต้องมีสิทธิ์พบแพทย์ และต้องเป็นแพทย์ที่เขาไว้ใจด้วย ญาติต้องรู้สิทธิ์ เรื่องนี้เห็นว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ซึ่งถ้ามีการตั้งคณะกรรมการ ทุกฝ่ายต้องหยุดให้ความเห็น อย่าด่วนสรุป รอให้คณะกรรมการทำงานก่อน หรือใครมีข้อมูลหลักฐานอะไร ก็ให้นำมาให้กับคณะกรรมการ" นางอังคณา ระบุ
ญาติไม่เชื่อตายเอง-เผยเจ้าตัวบ่น "ไม่ไหวแล้ว"
ขณะที่ญาติและครอบครัวของนายอับดุลลายิบ ที่ไปรอรับศพหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ตั้งข้อสังเกตว่า "ไม่เชื่อว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติ เนื่องจาก 2 วันที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าเยี่ยม เขาบอกว่าเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว กลัวมากด้วย อับดุลลายิบถูกจับมา 23 วัน ญาติมาเยี่ยมทุกวัน และอับดุลลายิบเพิ่งบ่นให้ฟัง 2 วันมานี้เอง แล้วจะให้เชื่อว่าตายโดยปกติได้อย่างไร"
รู้จัก "หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ"
สำหรับ หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554 แทนศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ หรือ ศสฉ. ที่ถูกยุบไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ตามคำสั่งของ พ.อ.ปิยะวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการ ศสฉ.ในสมัยนั้น หลังมีเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง กระทั่งมีการเรียกร้องให้ยุบ ศสฉ.
ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ เคยมีกรณีเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวมาแล้ว และตกเป็นข่าวโด่งดัง คือ กรณีของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกพบเป็นศพในลักษณะมีผ้าผูกคอจนเสียชีวิจ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553
สำหรับศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เป็นศูนย์ควบคุมตัวและซักถามผู้ต้องสงสัยของฝ่ายทหาร เดิมชื่อ "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยในช่วงที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ด้วยการปูพรม "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม" ผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก ฝ่ายความมั่นคงได้เปิดศูนย์ควบคุมตัวขึ้น 4 แห่ง และศูนย์วิวัฒน์สันติเป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องซ้อมทรมาน จนต้องปิดศูนย์ไป และเปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ขึ้นแทน แต่ก็ต้องปิดไปอีก กระทั่งมีการเปิดหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว
ส่วนศูนย์ซักถามของตำรวจ ใช้ชื่อ "ศูนย์พิทักษ์สันติ" ตั้งอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่ทหารจากในค่ายอิงคยุทธบริหาร ออกมาพบญาติผู้ตายที่รออยู่หน้าค่าย
2 ญาติๆ ของนายอับดุลลายิบ ขณะรอรับศพ