กสม.ทำรายงานเสนอยูเอ็น ระบุปัญหาสิทธิชุมชน-ค้ามนุษย์ไทยไม่คืบ
กสม.ระดมความเห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนก่อนส่งสหประชาชาติ 14 มี.ค.เพื่อตรวจสอบฉบับรัฐบาล แจงไทยมี พ.ร.บ.ค้ามนุษย์แต่ปฏิบัติไร้ผล สิทธิชุมชนตาม รธน.ไม่คืบแม้มีคณะกรรมการปฏิรูป นัก กม.แนะศาลปรับทัศนคติพิจารณาคดีคนจน ชาวบ้านแฉถูกเซาท์เทิร์นซีบอร์ดย่ำยีไม่ต่างจากมาบตาพุดทั้งภาคใต้
วันที่ 1 มี.ค.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”ประกอบการจัดทำรายงานเพื่อเตรียมเสนอคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. กล่าวว่าการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่จะนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกับฉบับของรัฐบาล
ด้าน ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการ กสม. กล่าวว่ารัฐธรรมนูญไทยปัจจุบันมีความก้าวหน้าคือบรรจุประเด็นสิทธิมนุษยชนเอาไว้มาก นอกจากนี้ยังมีกฏหมายระหว่างประเทศด้านสิทธมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีอีก 7 ฉบับ ทั้งนี้ กสม.ได้ทำ 6 แผนยุทธศาสตร์ได้แก่ แผนเชิงพื้นที่ ให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนเชิงประเด็นเรื่องทรัพยากร เชื้อชาติ ธุรกิจ การใช้หลักขันติธรรม ความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก คนพิการ
ในร่างรายงานของ กสม.ยังประเมินสถานการณ์และข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญได้แก่ 1.กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ เสนอให้ยกเลิกกฏหมายพิเศษ และดำเนินการสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และเร่งรัดการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน 12มี.ค.-19 พ.ค.53 มีการพิจารณา ประเด็นสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 การชุมนุมที่ละเมิดสิทธิคนอื่นและใช้ความรุนแรง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะควรมีหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงการใช้กฏหมายพิเศษ
3.ประเด็นสิทธิชุมชน มีข้อเสนอว่าการพัฒนาต้องสมดุลคำนึงถึงสิทธิชุมชน วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน มีมาตรการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
“สิทธิชุมชนตาม ม 66-67 เรื่องมาบตาพุด ที่ดิน ป่า ได้รับร้องเรียนเยอะและเป็นประเด็นสำคัญของประเทศ แม้รัฐบาลตั้งคณะปฏิรูปมาดูแล แต่ยังไม่ถึงจุดที่พอใจ” ดร.อมรา กล่าว
4.การค้ามนุษย์ มีสองมิติใหญ่คือผู้หญิงกับเด็ก และแรงงาน รัฐได้ออก พ.ร.บ ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ก้าวหน้า พ.ร.บ สัญชาติ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฏร มาตรการพิสูจน์สัญชาติ ล้วนเป็นนโยบายที่ดี แต่ยังต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง 5.ประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบ ที่ไทยโดนโจมตีจากนานาชาติเรื่องการส่งกลับ-ไม่ส่งกลับ เสนอว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น
นางจันทิมา ธนาสว่างกูร อัยการ กล่าวว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง ทั้งการซ้อมทรมานและการเลือกปฏิบัติ เสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ สร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ยุติธรรมชุมชน กระบวนไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ซึ่งจะช่วยเยียวยาปัญหาและลดการปะทะต่างๆในสังคม
“ศาลต้องปรับทัศนะคติในการค้นหาความจริง เข้าถึงความทุกข์ยากประชาชน เช่น คดีชาวบ้านบุกรุกที่ดินลำพูน เอกสารสิทธิตรงนั้นถูกต้องหรือไม่ ไม่ถูกพิจารณา ประเด็นสุดท้ายการชุมนุม เม.ย-พ.ค. การละเมิดสิทธิถูกละเลย รายงานของ กสม.ยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการพิจารณาคดีความเป็นอย่างไร” จันทิมา กล่าว
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายชาวจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ภาคใต้มีฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์มาก ชายทะเลสองฝั่ง ยาง ปาล์ม ผักผลไม้ น้ำมัน กาซธรรมชาติ แต่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กำลังลงสู่ภาคใต้เรียกได้ว่าเป็นมาบตาพุดทั้งภาค ชาวบ้านถูกกระทำจากนโยบายรัฐบาลที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะอยู่อย่างสอดคล้องกับฐานทรัพยากรท้องถิ่น ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และขาดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น การกำหนดให้จะนะมีโรงแยกกาซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึกที่เชื่อมกับปากบารา สตูล
“ยังมีกลไกต่างๆที่เข้ามาผลักดัน ไม่ว่าจะหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร สถาบันการศึกษาท้องถิ่น ล่าสุดอาจารย์มหาวิทยาลัยไปรับเงิน 15 ล้านทำพีอาร์ให้โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ให้ข้อมูลไม่ครบ บอกว่ามีท่าเรือ แต่ไม่มีอุตสาหกรรม” กิตติภพ กล่าว
ด้านวิจารณ์ ขันธุวาระ ตัวแทนชาวบ้านตราด กล่าวว่า คนในพื้นที่ได้รับผลจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ชาวบ้านเพิ่งได้รับข้อมูลไม่กี่เดือนทั้งๆที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายมาเป็น 10 ปี และเปิดเวทีมา 4-5 รอบแต่เป็นการแอบทำเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นด้วย ให้ความรู้ด้านเดียว พูดถึงแต่ข้อดี
“พื้นที่ ต.ไม้รูด ที่จะสร้างโรงไฟฟ้า เรามีอาชีพประมง และรัศมี 50 กม.ก็มีหาดทรายแก้วแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวบ้านต่อสู้รักษากันมา ยังเป็นถนนยุทธศาสตร์ทหารความมั่นคง เป็นถนนการค้าชายแดน ถ้ามีโรงไฟฟ้าจะทำให้ชาวบ้านต้องทิ้งถิ่นฐาน วิถีอาชีพต่างๆก็ต้องละทิ้ง” นายวิจารณ์ กล่าว
สายฝน เผยถิ่น เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทอง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กล่าวว่า การให้สัมปทานเหมืองทำให้น้ำปนเปื้อนโลหะหนักจนใช้ไม่ได้ ชาวบ้านรอบเหมืองเจ็บป่วย ยังไม่มีการเยียวยาแก้ไข แต่การตรวจคุณภาพน้ำกลับพบว่ามีค่ามาตรฐาน ขอเสนอไม่ให้ขยายประทานบัตรใหม่ถ้ายังไม่เยียวยาแก้ปัญหา ด้านสิริกัญญา ธีรชาติดำรง กล่าวเสริมว่าปัญหาดังกล่าวเกิดเพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไม่พยายามบังคับใช้กฏหมาย แล้วยังช่วยผู้ประกอบการละเมิดสิทธิชุมชนในพื้นที่เหมืองทั่วประเทศ.
ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/tag/%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A7/
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1248592449&grpid=01&catid=01