สธ.เร่งศึกษาศาสตร์โฮมิโอพาธีย์กันโรคไข้เลือดออก รู้ผลภายใน1 ปี
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมควบคุมโรค เร่งศึกษาศาสตร์โฮมิโอพาธีย์ป้องกันโรคไข้เลือดออก ตามหลักวิชาการให้รู้ผลภายใน 1 ปี ด้านแพทย์ธรรมชาติบำบัดแนะตั้งคณะกรรมการร่วมให้มีสมาคมโฮมีโอพาธีย์แห่งประเทศไทยด้วย
จากกรณีมีการใช้โฮมิโอพาธีย์ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี มาใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก นั้น นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาทดลองใช้ยา Eupatorium perfoliatum หรือ Eup-per ที่สกัดจากสมุนไพรในต่างประเทศ นำมาผสมน้ำและเขย่า ให้เด็กนักเรียนดื่ม ซึ่งเป็นวิธีการทางโฮมิโอพาธีย์ เพื่อป้องกันไข้เลือดออกในบางพื้นที่ เช่น ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สิงห์บุรี พังงา ฯลฯ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิต้านทานไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น และลดโอกาสของการป่วยไข้เลือดออก
นพ.สุริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันผลการใช้โฮมิโอพาธีย์ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการป้องกันโรคไข้เลือดออกตามหลักวิชาการได้อย่างชัดเจนเพียงพอ เป็นต้องมีการออกแบบการศึกษาเพิ่มเติม เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสนใจ ได้มอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับกรมควบคุมโรค ทำการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
“พร้อมขอให้ประชาชนรอผลการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของศาสตร์การแพทย์ทางเลือกโฮมิโอพาธีย์ แม้ว่าขณะนี้จะมีการนำยาโฮมิโอพาธีย์ไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกในบางประเทศ เช่น แนวปฏิบัติของประเทศอินเดีย และการใช้ในประเทศบราซิล แต่ผลการใช้เพื่อการป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันที่องค์การอนามัยโลกกำหนดกรอบไว้”
ด้าน นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ธรรมชาติบำบัด กล่าวถึงการป้องกันไข้เลือดออก นอกจากกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันยุงลายกัดแล้ว สำหรับการแพทย์แบบแผนยังถือว่าไม่มีวัคซีนป้องกัน เท่าที่เคยมีการทดลองวัคซีนก็พบว่า ป้องกันได้สำหรับเชื้อไข้เลือดออก Type 1 เท่านั้น ไม่ได้ผลใน Type 2, 3 และ 4 (เชื้อนี้มี 4 สายพันธุ์) และค่าวัคซีนก็มีราคาแพง ต้นทุนประมาณเข็มละ 2,500 บาท ต้องฉีดคนละ 3 เข็ม จึงต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการลงทุนผลิตวัคซีนซึ่งน่าจะมีค่าใช้จ่ายถึง 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการป้องกันด้วยโฮมีโอพาธีย์ ถ้าวิจัยพบว่า มีความสำเร็จ
“ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีภาคประชาชนเช่นสมาคมโฮมีโอพาธีย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วมเพื่อผลักดันโครงการโดยด่วน”
แพทย์ธรรมชาติบำบัด กล่าวอีกว่า การใช้สารโฮมีโอพาธีย์ Eup perf. ป้องกันไข้เลือดในจังหวัดสิงห์บุรีมาตั้งแต่ปี 2554-2556 ปรากฏลดอัตราป่วยจนเป็นจังหวัดระบาดน้อยที่สุด แต่เมื่อมีอุปสรรคไม่ได้แจกในปี 2557 สิงห์บุรีก็ติดอันดับระบาดเป็นจังหวัดที่ 49 ใน 6 เดือนแรกปี 2558 จากนั้นทางจังหวัดได้แจกใหม่ทำให้ 5 เดือนหลังนี้กลายเป็นจังหวัดที่ระบาดน้อยที่สุดของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักแพทย์ทางเลือกได้แจกสารกว่า 20 จังหวัด 23 พื้นที่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศรวม 245,212 ราย
ขณะที่แพทย์หญิงวลี สุวัฒิกะ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านกุมารเวชกรรม ประจำโรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวถึงการเริ่มใช้วิธีการรักษาแบบโฮมีโอพาธีย์ในการป้องกันไข้เลือดออกในจังหวัดสิงห์บุรีตั้งแต่ปี 2554 โดยจะแจกสารนี้ในโรงเรียน ซึ่งมีการขออนุญาตผู้ปกครองเด็ก ปีหนึ่งจะแจกปีละ 3 ครั้ง หรือ 4 เดือน ต่อครั้ง ซึ่งจากสถิติเท่าที่เก็บข้อมูลได้พบว่า สถิติในการเกิดไข้เลือดออกของจังหวัดสิงห์บุรีลดลง เมื่อมีคำสั่งให้หยุดแจกสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกกลับเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้นแม้จะยังไม่มีวิจัยทางวิชาการแต่จำนวนสถิติตัวเลขที่มีการแจกยาและไม่ได้แจกก็น่าจะแสดงให้เห็นว่า การใช้โฮมีโอพาธีย์สามารถช่วยป้องกันไข้เลือดออกได้ในระดับหนึ่ง
พญ.วลี กล่าวอีกว่า การจะทำวิจัยนั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก แม้จะมีข่าวว่าทางกระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจจะทำวิจัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่ได้มีการให้นโยบายที่ชัดเจนและไม่มีการกำหนดกรอบทิศทางของการทำวิจัยอย่างชัดเจน รวมถึงคำสั่งที่ให้หยุดแจกยาดังกล่าวก็สะท้อนว่าวิจัยนี้อาจจะไม่มีการทำอย่างจริงจัง