ผลการตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (FAA)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration – FAA) ในวันที่ 2 ธันวาคม 2558
นายอาคม กล่าวว่า ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration – FAA) เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ซึ่งพบว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องดำเนินการแก้ไข จำนวน ๓๕ ข้อ ต่อมา FAA ได้เดินทางมาตรวจติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ พบว่า ยังคงมีข้อบกพร่องที่ต้องดำเนินการแก้ไขอีก ซึ่ง กพท. ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าวก่อนครบกำหนด ๓๐ วัน ที่ FAA จะส่งผลการประเมินอย่างเป็นทางการให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยได้ส่งเอกสารข้อมูลการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังคงอยู่ทั้งหมดให้แก่ FAA เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ และ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้แจ้งผลการตรวจสอบระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทย โดย FAA แจ้งว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน คือ อยู่ในกลุ่ม Category 2 โดยสายการบินของไทยยังคงทำการบินไปสหรัฐอเมริกาตามที่มีอยู่เดิมได้เช่นเดิม แต่ไม่สามารถเพิ่มการให้บริการใด ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Category 2 มาแล้วเมื่อปี ๒๕๓๙ และสามารถกลับมาอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้ในปี ๒๕๔๐ และจากผลการตรวจสอบในปี ๒๕๔๔ และปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยยังคงสามารถอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้
จากผลการตรวจสอบของ FAA ในการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Category 2 จะส่งผลกระทบต่อสายการบินของไทยในการปฏิบัติการบินไปยังสหรัฐอเมริกา คือ
๑. FAA จะไม่พิจารณาเพิ่มข้อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ (Operation Specifications)
๒. FAA จะแนะนำให้กระทรวงคมนาคม สหรัฐอเมริกา (Department of Transportation - DOT) มีมาตรการจำกัดการอนุญาตให้ทำการบินในเชิงพาณิชย์ โดยให้คงระดับตามที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไม่ให้มีการเพิ่มจุดหมายปลายทาง ไม่ให้เปลี่ยนแบบอากาศยาน และไม่ให้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน
๓. สายการบินของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปฏิบัติการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วม (Codeshare) กับสายการบินของไทยได้ แต่สายการบินของไทยยังสามารถดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา หรือของประเทศที่จัดอยู่ใน Category 1 ได้
๔. อาจจะมีการทบทวน หรือจำกัดสิทธิทางเศรษฐกิจ (economic right) บางส่วนที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงสิทธิทางการบินสองฝ่าย (Bilateral Air Transport Agreement)
ปัจจุบันไม่มีสายการบินของไทยทำการบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกา หรือปฏิบัติการบินโดยการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา และไม่มีสายการบินของสหรัฐอเมริกาดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของไทย ดังนั้น ผลกระทบจากผลการตรวจสอบของ FAA ข้างต้น จึงไม่ส่งผลต่อสายการบินของไทยโดยตรง ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกายังสามารถเดินทางโดยใช้บริการผ่านสายการบินที่เป็นพันธมิตร (partner) ได้
แนวทางการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม
๑. กระทรวงฯ จะมุ่งเน้นการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern - SSC) จากผลการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) เป็นสำคัญ และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอื่น ๆ ควบคู่กันไป โดยจะนำผลการตรวจสอบของ FAA และข้อแนะนำจากการมาเยือนของ EASA และ JCAB ร่วมเป็นแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินของไทย คาดว่าแนวทางดังกล่าว จะสามารถแก้ไขและปรับปรุงในภาพรวมได้ทั้งหมด
๒. กระทรวงฯ จะกำกับให้ กพท. เร่งดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างการดำเนินงานของ กพท. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเร่งรัดในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติและจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของ กพท. เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ