เปิดมุมมองคนในโลกมืด "รูปที่มีทุกบ้าน" กับนิทรรศการ "9 ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส"
“หัวใจถ่ายภาพคือการปลูกต้นไม้ดอกไม้งามๆ ในหัวใจเด็ก เพื่อที่สุดแล้วเขาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เห็นคุณค่าและศักยภาพความดีงามที่มีอยู่ในตนเอง สามารถที่จะพึ่งพิงและยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับสังคม”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มหัวใจถ่ายภาพ และ กลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน PICT 4 ALL เปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายจากผู้พิการทางสายตา ในชื่อ “ 9 ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส” ซึ่งเป็นผลงานการถ่ายภาพของนักเรียนผู้พิการทางสายตาจากทั่วประเทศ โดยหัวข้อในงานครั้งนี้คือ “รูปที่มีทุกบ้าน”
นายนพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานกลุ่ม PICT 4 ALL ในฐานะผู้ดูแลโครงการหัวใจถ่ายภาพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนทักษะถ่ายรูปกับเด็กตาบอดว่า แรกเริ่มเดิมทีทางกลุ่มของเราจัดการสอนถ่ายภาพและรายได้จากการขายภาพนั้นนำไปช่วยเหลือเด็กในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งทำไปทำมาก็พบว่า ทำไมถึงยิ่งแย่ลงไปอีก
เขาเลยกลับมาคิดกันใหม่ว่า เราจะทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้จริง ๆ
หลังจากนั้นในกลุ่มฯ จึงมีการพูดคุยหารือว่า แนวทางของเราจะไปในทางใด ในที่สุดก็กลายมาเป็น "กลุ่มหัวใจถ่ายภาพ” ซึ่งทำงานกับกลุ่มเด็กพิการทางสายตา ช่วยให้เขามีทักษะในการถ่ายรูปจริงๆ โดยหลักสูตรต่างๆ ผ่านมาลองผิดลองถูกกันมาในกลุ่ม จนออกมาเป็นผลลัพธ์ในปัจจุบัน
“หัวใจถ่ายภาพคือการปลูกต้นไม้ดอกไม้งามๆ ในหัวใจของเด็กๆ เพื่อที่สุดแล้วเขาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เห็นคุณค่าและศักยภาพความดีงามที่มีอยู่ในตนเอง สามารถที่จะพึ่งพิงและยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับสังคม”
นายนพดล เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ "รูปที่มีทุกบ้าน" ว่า เนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทาง "คณะครูอาสา หัวใจถ่ายภาพ" เห็นตรงกันว่า ต้นแบบที่ยิ่งใหญ่ของความดีงามในสังคมไทยคือในหลวงของเรา จึงเป็นโอกาสอันดีงามยิ่งที่จะให้โอกาสเด็กๆ ในโลกมืดที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาสายสามัญทั่วไปเหล่านี้ จะได้เรียนรู้จริงจากผู้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน ว่า เหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงครองใจคนไทยมาโดยตลอด เพื่อที่พวกเขาเหล่านี้จะได้เติบโต อย่างคนไทยที่ไม่หลงรากของตนเอง อย่างคนที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ อย่างผู้เจริญสำนึกรู้คุณพ่อแม่แห่งแผ่นดิน โดยใช้กิจกรรมการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ครั้งนี้
ผู้ดูเเลโครงการหัวใจถ่ายภาพ กล่าวต่อว่า การจัดงานนี้ไม่เพียงให้โอกาสแก่นักเรียนตาบอดได้มีพื้นที่แสดงความสามารถเท่านั้น แต่ยังมีส่วนส่งเสริมให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติต่อการช่วยเหลือผู้พิการว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการให้ที่ยั่งยืน
“ปกติเวลาเราเห็นคนพิการ เรามักจะสงสาร และให้เงิน ได้เงินให้ไปแล้วก็หมด ไม่ยั่งยืน ทำอย่างไรเราจะสร้างให้เกิดความยั่งยืนแก่พวกเขาได้บ้าง”
"หัวใจถ่ายภาพ" จึงไม่ได้แค่หมายถึงการที่คนตาบอดมีความสามารถในการถ่ายรูปสวยงาม เพราะการได้ถ่ายภาพเป็นเพียงผลพลอยได้จากการใช้หัวใจในการเข้าถึงเด็ก และปรับใช้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพให้เหมาะสมกับคนตาบอด
และ "หัวใจถ่ายภาพ" ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งดีๆ ที่คนพิการทางสายตาจะได้รับ แต่ "หัวใจถ่ายภาพ" ยังได้นำพาเหล่าผู้มีจิตอาสาเกือบ 30 ชีวิตที่ร่วมแรงร่วมใจกันมาตลอดปีที่ผ่านมา ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเองด้วยเช่นกัน ความดีงามที่งอกงามของเหล่าครูอาสาเป็นผลจากการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
นายนพดล ยังกล่าวถึงประสบการณ์ประทับใจครั้งหนึ่งว่า วันหนึ่งหลังจากสอนถ่ายภาพเสร็จ มีพ่อของน้องผู้พิการทางตาคนหนึ่งมารับ แล้วน้องคนนั้น ก็ถ่ายรูปพ่อของตัวเอง แล้วยื่นให้พ่อดู
"เชื่อไหมครับ ตอนนั้นพ่อเขาร้องไห้เลย กลายเป็นว่า ตอนนี้กล้องถ่ายรูปกลายเป็นตาสะท้อนความคิดของพวกเขาไปด้วยเลย"
ถึงตอนนี้ทางกลุ่มได้เริ่มให้เด็กๆ เหล่านี้ เขียนในสิ่งที่ตนเองถ่ายมาจากการบรรยายสั้นๆ จากหนึ่งบรรทัดสองบรรทัด ตอนนี้หลายคนเขียนเป็นหน้ากระดาษได้เเล้ว บางคนมีความสนใจในงานด้านสื่อสารมวลชน
ในระยะยาวเขาคิดว่าจำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้กับเด็กเหล่านี้ ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนคนตาบอดกว่า 13 เเห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมกับโครงการในครั้งนี้แล้ว
ด้านเด็กหญิงศรีประภา พันธ์ุจันทร์ หนึ่งในนักเรียนผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมจัดแสดงผลงานภาพในครั้งนี้ เผยความรู้สึกแรกที่ได้เริ่มเรียนถ่ายรูปว่า รู้สึกดีใจที่มีส่วนร่วมในงานนิทรรศการ ตอนแรกๆ ที่เริ่มจับกล้อง รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยทำอะไรแบบนี้มากก่อน แต่ตอนนี้รู้สึกสนุกกับการถ่ายรูป
"สำหรับงานชุดนี้ รู้สึกดีใจที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของในหลวงผ่านการภาพถ่ายจากมือของตัวเอง ที่ผ่านมาต้องขอบคุณได้รับกำลังใจดีๆ จากหลายๆ คน จากคณะครูผู้สอน พี่เลี้ยง อย่างรูปชุดนี้ทางพ่อแม่ ก็ชมว่าถ่ายได้สวย" เด็กหญิง กล่าวด้วยรอยยิ้ม
สำหรับงานนิทรรศภาพถ่าย “รูปที่มีทุกบ้าน” จากโครงการ “ 9 ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส” จะมีการจัดแสดงตั้งเเต่วันนี้ -13 ธันวาคม 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี...