ชายแดนใต้กับ"เอชไอวี" ปัตตานีน่าห่วงสุด
“รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเมื่อปี 2543 ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับสามี ตอนนั้นรู้สึกท้อและปิดกั้นตัวเอง นานพอสมควรที่จะทำใจได้ กระทั่งได้เข้าร่วมกลุ่มกับผู้ป่วยคนอื่น จนกลายเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านนี้ไปเลย และทำให้ตัวเองเข้าใจในโรคนี้มากขึ้นว่าจริงๆ แล้วการติดเชื้อเอชไอวีไม่น่ากลัวอย่างที่คิด”
เป็นเสียงจากสตรีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปิดใจระหว่างร่วมงานเนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2558 ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขปากน้ำ ถนนปากน้ำ ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี
เสียงจากผู้ติดเชื้อ และข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งรัฐและเอกชน ทำให้ทราบว่าโรคเอดส์เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่โหมกระหน่ำสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกเหนือจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เผชิญอยู่มานานกว่า 10 ปี
กิจกรรมเนื่องในวันเอดส์โลก จัดขึ้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุขปากน้ำ โดยมี นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เป็นประธาน วัตถุประสงค์สำคัญคือให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ และให้กำลังใจกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ภายในงานมีบริการตรวจเลือดที่สามารถรู้ผลได้ทันทีว่าติดเชื้อหรือไม่
นางสาวลัดดา นิเงาะ ผู้ประสานงานภาคใต้ มูลนิธิโอโซน หนึ่งในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา มีผู้ติดเชื้อราวๆ 2,000 คน ขณะนี้พบตัวแล้วและอยู่ระหว่างการเข้ากระบวนการรับความช่วยเหลือประมาณครี่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคู่ คือมีสามี หรือภรรยา
จากข้อมูลตัวเลขบ่งชี้ว่า ที่ปัตตานีพบผู้ป่วยมากที่สุดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจและค่อนข้างเข้าถึงยาก คือที่ จ.นราธิวาส และยะลา ติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดยาเสพติด ปรากฏการณ์ที่ดีขึ้นก็คือ ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อสมัครใจเข้าตรวจเลือดมากขึ้น
ขณะที่ นายพิทักษ์ กล่าวว่า ปัตตานีเป็นพื้นที่เสี่ยงพื้นที่หนึ่ง เพราะมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงหันมาให้ความสำคัญ โดยเน้นให้ความรู้กับกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ติดเชื้อว่าโรคเอดส์เป็นแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นแล้วต้องรักษา และคนทั่วไปต้องไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อ
นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World Aids Day) ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่, ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งหากทำได้ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ (Ending Aids) ภายในปี 2573
จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 36.9 ล้านคนจากทั่วโลก เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.2 ล้านคน
ในประเทศไทย จากการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่มีการระบาดจนถึงปี 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ใหญ่สะสมทั้งสิ้น 1,201,839 คน ในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ 426,707 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และข้อมูลของ จ.ปัตตานี มีผู้ป่วยสะสม 1,354 คน และเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 116 คน
ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีรายหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเมื่อปี 2543 ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับสามี ตอนนั้นรู้สึกท้อและ ปิดกั้นตัวเอง นานพอสมควรที่จะทำใจได้ และคิดในใจว่าน่าจะมีคนอื่นด้วยที่เป็นแบบเราจึงตัดสินใจเข้าสอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาล และได้เข้าร่วมกลุ่มกับผู้ป่วยคนอื่น จนกลายผู้ให้ข้อมูลด้านนี้ไปเลย ทำให้ตัวเองเข้าใจในโรคนี้มากขึ้นว่าจริงๆ แล้วการติดเชื่อเอชไอวีไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แค่เรากินยาต้านไวรัส เราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนปกติ
ต่อมาปี 2552 ก็ตั้งท้องลูกคนแรก การที่เรากินยาต้านไวรัส ทำให้ไวรัสอ่อนตัวลง เชื้อก็ไม่ไปสู่ลูก ทุกวันนี้อยู่ได้ ใช้ชีวิตปกติในสังคม ปัญหาที่เจอตอนนี้ คือ ผู้ติดเชื้อไม่รู้ว่าติดเชื้อ จึงไม่ได้กินยาต้านเชื้อ กับอีกพวกหนึ่งคือผู้ที่ไม่ยอมมาตรวจ เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ
นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่กลายเป็นปมทางสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันจำกัดวง