เปิด 4 ข้อท้วงติง สภาพัฒน์ฯ ต่อร่างกฎหมายจีเอ็มโอ
หากส่งเสริมให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม นอกจากจะเป็นการจำกัดตลาดส่งออกให้แคบลงแล้ว ยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยและเกษตรกร
จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms: GMOs) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ถูกพูดถึงในสังคมมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งปี 2538 ถือเป็นปีแรกๆ ที่มีการอนุญาตให้ปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ถัดจากนั้นเพียงปีเดียว ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์
ปลายปีนี้ จีเอ็มโอกลับมาเป็นข่าวเกรียวกราวอีกครั้ง เมื่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับความเห็นท้วงติงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจ หน่วยงานแรก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ
โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม สภาพัฒน์ฯ เสนอความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....เพื่อประกอบการพิจารณาของครม. 4 ข้อด้วยกัน
1.เนื่องด้วยพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งมีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ทำให้ยังไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างชัดเจนดังนั้น โดยหลักการของการควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม จึงเห็นควรให้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในลักษณะที่ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพจะได้ประกาศยกเว้นไว้ โดยผู้ร้องขออนุญาตต้องมีหลักฐาน และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงความปลอดภัย เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน และเป็นที่ประจักษ์ และหากเกิดผลเสียขึ้นในภายหลัง ผู้ขออนุญาตผลิต นำเเข้าหรือส่งออกต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทุกกรณี
2.ควรเพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองระบบเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะกรณีเจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับพืชทั่วไป พืชที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศ
3.อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีความเกี่ยวข้อกับนโยบายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ของประเทศ ซึ่งการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการผลิตภาคเกษตรที่มีประชากรเกือบ 30 ล้านคน หรือเกือบ 6 ล้านครัวเรือน โดยยังไม่รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร จนถึงผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น และไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องความปลอดภัยในกลุ่มผู้บริโภค หากส่งเสริมให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม นอกจากจะเป็นการจำกัดตลาดส่งออกให้แคบลงแล้ว ยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยและเกษตรกร ดังนั้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ครอบคลุมในทุกมิติ และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อยุติร่วมกันเสียก่อน
4.หากมีความจำเป็นในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจเพื่อการพาณิชย์ ควรเน้นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับประเทศในระดับสูงเช่นกัน ได้แก่ กล้วยไม้ พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และปลาสวยงาม เป็นต้น ในขณะที่ส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางเทคโนโลยีทางชีวภาพอย่างจริงจังต่อไป โดยในระยะแรกควรดำเนินการเฉพาะในห้องปฏิบัติการ หรือโรงเรือน และในแปลงทดลองของทางราชการก่อน
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในการครอบครอง นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ควรกำหนดให้แจ้ง หรือขออนุญาต พร้อมแนบหลักฐานปฎิบัติที่ชัดเจน เช่น รายละเอียดการจัดเก็บ แผนป้องกันการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน กรณีมีการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์
ส่วนสำนักงาน ก.พ.ร. มีข้อเสนอเรื่องการกำหนดให้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดของกระทรวงหรือทบวงในราชการส่วนกลาง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ควรคำนึงถึงบทบาทภารกิจหลักและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้เดิม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ปริมาณงานในความรับผิดชอบ จำนวนบุคลากร และผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายภาครัฐด้วย
ซึ่งมติครม.ที่เผยแพร่สาระสำคัญของร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ออกสู่สาธารณชน ภาพดูดี สวยหรู (อ่านประกอบ:ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ) จากนี้คงต้องจับตาดู กระบวนการออกร่างกฎหมาย ตัวร่างกฎหมายจริง ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศ "ครัวของโลก" จะมีความรอบคอบมากน้อยเพียงใด