กรีนพีซฯ เรียกร้อง สนช.ยุติพิจารณาร่าง กม.จีเอ็มโอ
กรีนพีซฯ เเถลงการณ์จี้ สนช.ยุติพิจารณาเห็นชอบร่าง กม.จีเอ็มโอ เน้นการมีส่วนร่วม ปชช.เเละความปลอดภัย ยันพืชจีเอ็มทำเกษตรกรยากจน เมล็ดพันธุ์ถูกคุมโดยสิทธิบัตร ไม่ใช่นวัตกรรมของระบบอาหาร
สืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.… ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม เกษตรกร และภาครัฐประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางชีวภาพของประเทศไทย ส่งผลร้ายต่อภาคการเกษตรทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออก อีกทั้งยังมีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่มีการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในเชิงพาณิชย์ คือ 20 ปีที่สะท้อนความล้มเหลว
เนื่องจากไม่มีพืชจีเอ็มชนิดใดที่ถูกออกแบบมาเพื่อปริมาณผลผลิต พืชดัดแปลงพันธุกรรมคือการประยุกต์อย่างดันทุรังเพื่อแก้ปัญหาความหิวโหยและการขาดสารอาหาร นี่คือการส่งเสริมรูปแบบการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ล้มเหลวในการผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลก
"พืชจีเอ็ม ไม่ใช่คำตอบสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นจะต้องอาศัยแนวทางการเกษตรที่ส่งเสริมความหลากหลายและปกป้องรักษาดิน ไม่ใช่ระบบการเกษตรที่ลดทอนความสำคัญของปัจจัยรอบตัวซึ่งพืชจีเอ็มถูกพัฒนามาใช้กับระบบนี้"
ผู้ประสานงานด้านอาหารฯ กรีนพีซ กล่าวต่อว่า พืชจีเอ็มยังไม่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่มีโปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาวหรือมีไม่เพียงพอ นักวิชาการอิสระชี้แจงว่าถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงวัตถุดิบสำหรับการวิจัย
พืชจีเอ็มเป็นตัวการของปัญหาวัชพืชและแมลง เพียงไม่กี่ปีหลังจากการนำพืชจีเอ็มออกสู่สิ่งแวดล้อมก็พบปัญหาวัชพืชที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและอภิแมลง (superpests หรือ แมลงที่ทนต่อยาฆ่าแมลงและสารพิษจากพืชจีเอ็ม) สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาวัชพืชและอภิแมลงมาจากการใช้พืชจีเอ็ม ที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง ทำให้ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น
"พืชจีเอ็มทำให้เกษตรกรยากจนลง ราคาเมล็ดพันธุ์ถูกควบคุมโดยเจ้าของสิทธิบัตรและราคาได้พุ่งทะยานขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของวัชพืชที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและอภิแมลงเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรทำให้มีกำไรยิ่งลดน้อยลง"
นายวัชรพล กล่าวอีกว่า พืชจีเอ็ม ไม่สามารถอยู่ร่วมกับการเกษตรระบบอื่นได้ มีการบันทึกว่าการปนเปื้อนจากพืชจีเอ็ม ได้เกิดขึ้นทั่วโลกเกือบ 400 ครั้ง การทำเกษตรให้ปลอดจากพืชจีเอ็ม เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร และบางครั้งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
พืชจีเอ็มจึงไม่ใช่นวัตกรรมที่ดีที่สุดสำหรับระบบอาหาร การผสมพันธุ์พืชโดยวิธีที่ไม่อาศัยการดัดแปลงพันธุกรรมได้สร้างคุณลักษณะที่พืชจีเอ็ม กล่าวอ้างไว้ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความต้านทานโรค ความทนทานต่อน้ำท่วมและความแห้งแล้ง พืชจีเอ็ม ไม่ได้เป็นเพียงแต่นวัตกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพแต่ยังเป็นการปิดกั้นนวัตกรรมเนื่องจากเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสิทธิ์ของบริษัทข้ามชาติที่มีจำนวนเพียงหยิบมือ
"กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาเพื่อเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพและรับประกันว่าการผลักดันให้มีกฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงหลักการความปลอดภัยไว้ก่อนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง" ผู้ประสานงานด้านอาหารฯ กรีนพีซ กล่าว .
อ่านประกอบ:สภาเกษตรกรฯ จี้รัฐทบทวนร่างกม.จีเอ็มโอ หวั่นไม่เพียงทุบหม้อข้าว ยังเผาบ้านตัวเอง
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ:เงื่อนงำชัดเจนดันร่างกม.จีเอ็มโอผ่าน ครม.
พ.ร.บ.ตัดแต่งพันธุกรรมกำลังกลับมาอาละวาดอีกที.....
ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....
เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย
ปลุกผู้บริโภคตื่นรู้ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้พืช GMOs กระทบฐานผลิตระบบอาหาร
ภาพประกอบ:social.tnews.co.th