นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ยันถ่านหินสะอาดไม่มีจริง
นักวิชาการวิศวกรรมสิ่งเเวดล้อม ย้ำความเข้าใจถ่านหินสะอาดไม่มีจริง แนะให้ดูตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่แค่ปลายเหตุ ยันเทคโนโลยีก็ดักจับสารพิษได้บางตัวเท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ Thai Climate Justice (คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม) ร่วมกับองค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย จัดเสวนา "ถ่านหิน.. สะอาดและจำเป็นแค่ไหนในบริบทโลกร้อน?" ที่ รูท การ์เด้น ทองหล่อ โดยในเวทีเสวนา ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกระบวนการการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้าจะมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซน์ อันเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่สามารถดักจับก๊าซเหล่านี้ได้ คำถามที่หลายคนสงสัยคือ การดักจับสารพิษดังกล่าวนั้นสามารถทำได้ในระดับ 100%หรือไม่
ดร.อาภา กล่าวว่า ไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่ทำงานได้ 100% ที่ทำอยู่สามารถได้เพียง 90-95% เท่านั้น และในความเป็นจริงนั้น ก๊าซจากการเผาก็มีขนาดที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งก๊าซต่างๆ ที่ปล่อยออกมามีขนาดเล็กมากๆ และเมื่อไปจับเข้ากับฝุ่นละออง ขนาด 2.5 ไมคอน (เส้นผมคนเรามีขนาด 50 ไมคอน) สามารถลอยไปได้ไกลมาก หากมีซัลเฟอร์ไดออกไซน์ปนอยู่ด้วย ก็จะทำให้ฝุ่นตัวนั้นมีสภาพของความเป็นกรด เมื่อเข้าไปอยู่ในปอดของคนเราก็ยังก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาว เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด
นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า การพูดถึงซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซน์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถ่านหินมีองค์ประกอบของโลหะหนักกว่า 27 ชนิด มีตั้งแต่ โครบอน โครเมียน แคดเมียม สารหนู แม้กระทั่ง ตะกั่ว ปรอท นิกเกิ้ล เป็นต้น หรือในบางแหล่งอาจพบสารกัมตภาพรังสีปนอยู่ด้วย ในกระบวนการทั้งแต่ขุดจนเข้าเตาเผา สารเหล่านี้จะกระจายไปในอากาศ
"ฉะนั้นเทคโนโลยีดักถ่านหิน ดักอย่างไร ก็ไม่มีทางหมดไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีการดักจากปล่องแล้วก็ตาม สารพิษก็ยังคงมีอยู่ในขี้เถ้าอยู่ดี"
ปัจจุบันในประเทศไทยการทำเหมืองถ่านหิน ทำในลักษณะการเปิดหน้าดินเพื่อขุดขึ้นมา ซึ่งถ่านหินที่พบในเมืองไทยเป็นถ่านหินลิกไนต์ มีกัมมะถันเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมากทำให้ปริมาณของก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซน์เยอะเช่นเดียวกัน การที่รัฐอ้างว่าต้องซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย หรือ ออสเตรเลีย เพราะถ่านหินที่นั่นคุณภาพดีกว่า คำว่าถ่านดีนั้น คือถ่านหินที่นำมาเผาแล้วให้พลังงานที่ดีกว่าเท่านั้นเอง"ดร.อาภา กล่าว และว่า เวลาที่เราพูดถึงเกรดของถ่านหินอย่าง ลิกไนต์ หรือ ซับไบทูบินัต ในเชิงวิชาการการแบ่งว่า เกรดไหนดีนั้น ไม่ได้พูดถึงสารพิษที่เป็นองค์ประกอบในถ่านกินครบทุกตัว พูดกันเฉพาะแค่คุณสมบัติในการเผาไหม้
สำหรับการจะบอกว่าถ่านหินสะอาดนั้น ดร.อาภา กล่าวว่า จะดูแค่ปลายทางจากปากปล่องอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่กระบวนการการได้มาซึ่งถ่านหิน พูดง่ายๆ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง แค่มีการระเบิดเหมืองถ่านหินตั้งแต่ตอนนั้น สารพิษต่างๆ ก็ฟุ้งกระจายไปแล้ว หรือแม้เมื่อขุดขึ้นมาแล้วรวมไปถึงกองดินที่เกิดจากการขุด ซึ่งอาจมีเศษของถ่านหินปนอยู่ หากเกิดฝนตก สารพิษที่น้ำชะล้างออกมาไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงน้ำใต้ดินในบริเวณนั้นด้วย
ส่วนที่ว่าจะทำในระบบปิดนั้น นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะถ่านหินหากอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป ตัวถ่านหินสามารถติดไฟได้ทันที สังเกตได้ว่า กองถ่านหินนั้น จำเป็นต้องมีการรดน้ำพรมอยู่ตลอดเวลา และนี่เพียงแค่กระบวนการแรกเท่านั้น เราก็พอจะรับรู้ได้เลยว่า ความสะอาดนั้นไม่ได้มีอยู่จริง
"ถามว่าเรื่องพวกนี้จะเอาหลักฐานที่ไหนมายืนยัน คำตอบคงไม่ต้องไปไกล ชาวบ้านที่แม่เมาะ อาจเป็นคำตอบให้พวกเราได้ สสารเหล่านี้ อย่างตะกั่วหากอยู่ในรูปสสารปกติก็ไม่เป็นพิษ แต่เมื่อไรก็ตามเรานำเอาไปละลายน้ำนั้นแหละถึงจะเป็นพิษ ถ่านหินก็เช่นกัน หากถ่านหินนอนเฉยๆ ในรูปของชั้นหินใต้ดิน แบบนั้นไม่ได้มีพิษอะไร นั้นแหละสะอาด แต่พอเอามาเผาหรือเข้ากระบวนการแปรรูป สสารตัวนั้นก็กลายเป็นพิษทันที ตั้งแต่กระบวนการขุด การขนส่ง การเผา ทุกกระบวนการ"
ภาพประกอบหัวหัวเรื่อง: กรีนพีซhttp://www.greenpeace.org/seasia / นักข่าวพลเมือง Thai PBS