ยุวศิลปินไทย 58 ใช้ศิลปะสะท้อนสังคม เสียดสีพฤติกรรมเร่งรีบ-ความเห็นแก่ตัว
ยุวศิลปินไทยสะท้อนสภาพสังคมผ่านผลงานศิลปะ ชี้ความเร่งรีบ ความอึดอัดของเมือง ตัวกระตุ้นคนให้เกิดความเห็นแก่ตัว
“ผลงานที่สะท้อนสังคมไทยในปัจจุบัน ภาวะเร่งรีบ การแก่งแย่งทำมาหากิน การแย่งชิงช่วงเวลาที่สำคัญ ความเร็วที่สวนทางกันระหว่างรถเมล์และมอเตอร์ไซค์ สภาพของสิ่งมีชีวิตกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่ดูน่ากลัว กระเจิดกระเจิง พร้อมข้อความ เราส่งเร็วทันใจ ซึ่งเป็นการประชดประชันการเดินทางของคนในกทม.” คือเหตุผลจากคณะกรรมการ สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาศิลปะ 2 มิติ ในงานยุวศิลปินศิลปินไทย ประจำปี 2558 ของมูลนิธิเอสซีจี ที่จัดขึ้น ณ ลาน The Atrium อาคารสินธร
ไทยแลนด์ ซิ่ง ซิ่ง ผลงานยอดเยี่ยม จากสาขาศิลปะ 2 มิติ ของประภัสสร บุตรพรหม นักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการใช้เทคนิคภาพพิมพ์โลหะร่องลึก ผ่านแนวความคิดล้อเลียนพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมรอบๆตัวที่มีลักษณะเด่นชัด สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ประภัสสร บอกว่า ภาพไทยแลนด์ ซิ่ง ซิ่ง เป็นภาพผู้หญิงนั่งซ้อนวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเธอเองตั้งใจจะสะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การปรับตัว และลักษณะนิสัยใจคอของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งดี ร้าย แตกต่างกันไป ผ่านมุมมอง ความรู้สึกส่วนตัวของเธอที่เห็นอยู่เป็นประจำ
เช่นเดียวกับโยธิน พรามประอินทร์ นักศึกษาสาขาประติมากรรม วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ที่เลือกจะนำเสนอศิลปะในสาขา 3 มิติ ด้วยการสะท้อนสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ในผลงาน กว่าจะถึง และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากสาขาศิลปะ 3 มิติ
โยธิน บอกว่า แนวคิดของเขานั้นเห็นว่า ปัจจุบันชีวิตของคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับสภาวะกดดันที่เกิดจากการจราจรในเมืองหลวง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจ เกิดเป็นภาวะอึดอัดที่มาจากปัญหาการจราจรและทำให้กระตุ้นพฤติกรรมของมนุษย์ให้มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นอย่างรุนแรง ขาดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เกิดความเครียด ความกดดัน
"ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุให้เขาเชื่อมเหล็กและหล่อไฟเบอร์กลาสเพื่อเสนอเรื่องราวความอึดอัดบนรถโดยสารประจำทางผ่านจินตนาการและผสมผสานกับประสบการณ์ของตัวเขาเอง"
ไม่ใช่แค่ผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมเท่านั้นที่นำเรื่องราวในสังคมมาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะ สำหรับน้องๆ ที่ได้รับรางวัลประเภทดีเด่นในสาขาศิลปะ 3 มิติ ก็สะท้อนปัญหาต่างๆของสังคมออกมาเช่นเดียวกัน
ผลผลิตแห่งอุดมคติ ของขวัญฤดี แสนธิวัง นักศึกษาสาขาประติมากรรม วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เธอเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันทำให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เนื้อหาและระบบการผลิตเยาวชนในอุดมคติของไทยเป็นไปตามประสงค์และเป้าหมายของสังคม เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ในอุดมคติให้มีความพร้อมตามอย่างที่ต้องการของสังคมชั่วขณะ มีการกำหนดรูปแบบการศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยทำการกำหนดแนวความคิดและการปฏิบัติ รวมถึงการแสดงออกของนักเรียนให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้รูปแบบที่กำหนดและก่อเกิดเป็นการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะ ที่มีลักษณะพิเศษขึ้นใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่ความปรารถนาแห่งจิตวิญญาณของเยาวชน
ผลงานที่ชื่อ พยุง ของวีรพงษ์ น้ำจันทร์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ใช้แนวคิดของเปลือกไม้ที่ว่าเปลือกไม้คือส่วนประกอบหนึ่งของต้นไม้ มีหน้าที่คอยปกป้องเนื้อในที่มีความสวยงาม ดังนั้นจึงได้นำรูปทรงของเปลือกไม้มาแสดงออกถึงการถูกคุกคามของมนุษย์ที่เหลือไว้เพียงเปลือก ไม่มีเนื้อไม้ภายในอีกต่อไปด้วยรูปทรงที่บิดเบี้ยวและร่องรอยที่แตกเป็นชิ้น ๆ เปรียบได้กับความรุนแรงที่มนุษย์กระทำกับทรัพยากรป่าไม้ในบ้านเราหรือแม้แต่ในโลกก็ตาม
“เราตระหนักดีว่าศิลปะจรรโลงจิต ศิลปินคุณภาพจรรโลงสังคม ดังนั้นเราจะต้องสนับสนุนน้อง ๆ และส่งเสริมความสามารถด้านศิลปะในระดับเยาวชน เพราะไม่มีการพัฒนาใดจะยั่งยืนเท่ากับการพัฒนาคน” นี่คือความเชื่อของขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี
เขายังคงเชื่อว่า ความสำเร็จในวันนี้จะเป็นกำลังใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งเสริมและสร้างสุนทรียะให้แก่สังคมไทย สร้างความอิ่มเอิบทางอารมณ์แก่ผู้สร้างและผู้เสพศิลปะ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 11 ที่ทางมูลนิธิยังคงเดินหน้าตามล่าท้าเยาวชนคนหัวศิลป์ทั่วประเทศได้มาแสดงพลังสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลงานที่ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศทั้งหมด 36 ชิ้น จาก 6 ประเภท ได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี โดยผลงานทั้ง 36 ชิ้นจะจัดแสดงที่ลาน The Atrium อาคารสินธร ตั้งแต่วันที่ 26พ.ย.- 6 ธ.ค. 2558 และจะจัดแสดงอีกครั้งในวันที่ 9-30 ธันวาคม 2558 ณ ห้องนิทรรศกาล 5-8 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า กทม.