ชง 4 มาตรการ "ยุติธรรมทางเลือก" ขึ้นโต๊ะพูดคุย "มารา ปาตานี"
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำ “ชุดความคิด” หรือ “แพคเกจ” เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นหนึ่งในสามชุดความคิดที่เตรียมเสนอต่อวงประชุมคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ที่คาดว่าจะพบปะกันครั้งที่ 4 ในเดือนธันวาคมนี้
มีความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจาก พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย ออกมาแถลงก่อนหน้านี้ว่าได้จัดทำ “ชุดความคิด” จำนวน 3 ประเด็นสำคัญเสร็จสิ้นแล้ว คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน, การพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในประเด็นเร่งด่วน และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข กับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหนึ่งในคณะพูดคุยสันติสุขฯของรัฐบาล กล่าวว่า สาระสำคัญของชุดความคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรม คือ การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก และมาตรการอื่นแทนโทษจำคุก มาใช้ในบริบทของการพาคนกลับบ้าน และดึงผู้เห็นต่างให้ยุติใช้ความรุนแรง แล้วกลับมาใช้แนวทางสันติวิธี ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ ประกอบด้วย
1.มาตรการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่เปิดให้ผู้หลงผิดซึ่งกลับใจเข้ามอบตัวกับทางการ สามารถเลือกเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แทนการถูกดำเนินคดีอาญา
2.มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่เปิดช่องทางให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาบางคดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงของชาติได้
3.มาตรการพักโทษ หรือพักการลงโทษ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับพื้นที่ และให้เกิดผลต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขให้มากที่สุด หลักคิดในเรื่องนี้ คือ ไม่จำเป็นต้องให้คนอยู่ในคุกตลอดเวลา สามารถออกไปใช้ชีวิตปกตินอกเรือนจำได้ โดยมีกระบวนการกลับคืนสู่ชุมชนในมิติของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รองรับ ขณะที่รัฐก็ดูแลเรื่องการงานและอาชีพ
4.มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก สามารถนำมาใช้ได้ควบคู่กับโครงการพาคนกลับบ้าน ของกองทัพภาคที่ 4
นายชาญเชาวน์ กล่าวด้วยว่า ชุดความคิดเหล่านี้คือการนำแนวทางกระบวนการยุติธรรมทางเลือก และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ เพื่อให้พื้นที่ชายแดนใต้ก้าวพ้นความขัดแย้ง และรองรับกระบวนการพูดคุยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะปัญหาพื้นฐานของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่รู้กันดีว่าคือปัญหาความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่
สำหรับมาตรการที่ 2-4 นั้น เป็นมาตรการที่นำมาอุดช่องโหว่ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ไม่สามารถประกาศใช้ในพื้นที่ที่ยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ สะท้อนว่าทางคณะพูดคุยฯไม่ได้คิดแค่สถานการณ์ปัจจุบัน แต่มองไปถึงอนาคตด้วย และหากต่อไปพื้นที่ที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจได้รับการพิจารณายกเลิก และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน ก็สามารถนำมาตรการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้เสริมได้อีก
ส่วนปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งระยะหลังยังคงมีร้องเรียนอยู่เนืองๆ นั้น นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่จะสร้างสภาวะที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยอยู่แล้ว ฉะนั้นการยุติการซ้อมทรมาน หรือการเปิดโอกาสให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ ถือเป็นประเด็นที่หน่วยงานรับผิดชอบทุกหน่วยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายและหลักการสากลอยู่แล้ว
“การจัดทำชุดความคิดต่างๆ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เราได้เดินทางไปศึกษาปัญหาและบทเรียนจากหลายๆ พื้นที่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์เหนือ มินดาเนา (ประเทศฟิลิปปินส์) หรือแม้แต่อาเจะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) พบว่าบริบทปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างกันมากกับพื้นที่ขัดแย้งเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้การวางกรอบการแก้ไขปัญหาจึงต้องให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่เป็นหลัก” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหนึ่งในคณะพูดคุยฯ ระบุ
ส่วนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งยังไม่เป็นประเด็นเปิดเผย และฝ่าย มารา ปาตานี แถลงการณ์ไม่ยอมรับว่ามีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันนั้น นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า การเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยคงไม่ใช่ประเด็น แต่ยอมรับกันว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นกระบวนการสำคัญประการหนึ่งของการพูดคุยและแนวทางสันติวิธี การไม่เปิดเผยอาจเป็นผลดีในบางแง่ เช่น หากประกาศอย่างเปิดเผยออกไป ก็จะมีคนคอยจ้องนับสถิติว่าเกิดเหตุรุนแรงขึ้นหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอาจกลายเป็นแรงกดดันต่อการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม