สุรชาติ: เมื่อคุณอาจเดินสวนผู้ก่อการร้าย ได้เวลาไทยรื้อระบบป้องกันเมือง
“สิ่งที่แตกต่างระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับคนธรรมดา คือ กลุ่มคนเหล่านี้มีระเบิดอยู่ในมือ แต่คนธรรมดาที่เดินถนนไม่มี ทำให้เราไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าใครคือผู้ก่อการร้าย”
เป็นวรรคทองของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สะท้อนว่านี่คือความน่ากลัวของภัยก่อการร้ายในปัจจุบัน เพราะมันแฝงอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง
ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายๆ ประเทศ ผู้ก่อการร้ายหรือผู้ที่นิยมใช้ความรุนแรง บางทีก็ไม่ใช่คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา แต่เป็นคนชาติเดียวกันนี่แหละ ทำให้ยิ่งเฝ้าระวังยากขึ้นไปอีก และนั่นได้นำมาสู่การบัญญัติศัพท์ที่เรียกว่า “โฮมโกรว์น” (Homegrown Terrorist)
ศ.ดร.สุรชาติ ให้นิยามของคำๆ นี้ว่า หมายถึงผู้ก่อการร้ายที่ถูกสร้างจากเงื่อนไขภายใน และเป็นคนในของประเทศนั้นๆ เอง เห็นได้จากตัวอย่างความรุนแรงที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผู้ร่วมปฏิบัติการบางส่วนเป็นคนฝรั่งเศสเอง แม้ผู้ปฏิบัติการอีกส่วนหนึ่งจะมาจากประเทศอื่น แต่ก็มีข้อมูลว่าชายคนหนึ่งที่เป็นคนฝรั่งเศสคอยให้ความช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2548 กลุ่มคนที่ลงมือก็เป็นโฮมโกรว์น เพราะเป็นการกระทำของเด็กที่เติบโตในสังคมของอังกฤษเอง และไม่ได้เป็นผู้อพยพ แม้ต้นตระกูลของพวกเขาจะเป็นผู้อพยพ แต่คนเหล่านี้เป็นผู้สืบทอดในรุ่นที่สองหรือสามแล้ว จึงเติบโตมาในสังคมตะวันตกจริงๆ
หากมองย้อนกลับไปถึงต้นตอปัญหาของคนกลุ่มนี้ น่าจะมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆว่าต้นตระกูลของคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่ได้มีชนชั้นทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงไม่ได้รับการยอมรับในสังคมทุกๆ ด้าน ทำให้ดูเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์น่าเป็นห่วงกว่าเก่า เพราะมีกลุ่มไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) เกิดขึ้นมา และมีวิธีการทำให้คนจำนวนมากมีความเชื่อในคำโฆษณาของกลุ่ม จึงตัดสินใจเข้าไปร่วมมือด้วย มีคนจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งยุโรปเดินทางไปร่วมรบกับไอเอส สิ่งที่น่ากังวลก็คือปัญหาทหารผ่านศึกจากสมรภูมิซีเรียและอิรัก ซึ่งขณะนี้ทหารผ่านศึกหลายคนได้เดินทางกลับบ้านเกิดของพวกเขาแล้ว
“กลุ่มไอเอสมีความได้เปรียบเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ที่สามารถขยายความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยกลุ่มไอเอสได้จัดตั้งหน่วยขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ทำหน้าที่โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โดยตรง และจัดทำนิตยสารออนไลน์ออกมาด้วย ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ทหารผ่านศึกหรือไปร่วมรบโดยตรง ก็สามารถรับชุดความคิดของกลุ่มไอเอสได้ง่ายๆ เราเรียกว่า ‘เซลล์ที่หลับใหล’ และคนกลุ่มนี้ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือที่เรียกว่า ‘กลุ่มคนประวัติสีขาว’ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่หน่วยงานรัฐต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด”
“ฉะนั้นหากว่าคนกลุ่มที่เป็น ‘เซลล์ที่หลับใหล’ ลงมือก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะไม่มีประวัติ สมัยก่อนหากเรารู้ว่าใครเป็นข้าศึก ก็จะมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่การก่อการร้ายสมัยใหม่อย่างกลุ่มไอเอส เพราะสิ่งที่แตกต่างระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับคนธรรมดาคือ กลุ่มคนเหล่านี้มีระเบิดอยู่ในมือ แต่คนธรรมดาที่เดินถนนไม่มี และเราไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าใครคือผู้ก่อการร้าย”
ส่วนประเด็นที่ว่า คนธรรมดาๆ หรือ “เซลล์ที่หลับใหล” ฝึกยุทธวิธีการรบหรือการก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไรนั้น ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ปัจจุบันโลกออนไลน์มีข้อมูลทุกอย่าง สามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำระเบิด
ดังนั้นเหตุโจมตีที่ฝรั่งเศสจึงเป็นบทเรียนว่า อาจจะเป็นฝีมือของชุดปฏิบัติการจริงๆ ชุดหนึ่งจากภายนอก แต่มีฐานรองรับหรือชุดสนับสนุนอยู่อีกชุดหนึ่งภายในประเทศเอง จึงไม่ควรคิดแบบเก่าๆ ว่า หากพูดถึงการก่อการร้าย ผู้ก่อเหตุจะต้องเดินทางจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศเพื่อลงมือ แต่อาจจะมีชุดสนับสนุนคอยช่วยเหลือ ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนธรรมดาที่รับชุดความคิดจากกลุ่มไอเอสที่โฆษณาทางโลกออนไลน์ก็เป็นได้
นอกจากคำว่า “โฮมโกรว์น” แล้ว ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ “โลนวูล์ฟ” (Lone Wolf Terrorist) ที่แปลตรงๆ ว่า “หมาป่าโดดเดี่ยวที่ออกล่าเหยื่อ” ลักษณะร่วมของคนที่เป็นโลนวูล์ฟ คือ มักจะอยู่คนเดียว แปลกแยกจากสังคม และซึมซับอุดมการณ์ก่อการร้ายหรือใช้ความรุนแรง บางคนจึงปฏิบัติการคนเดียว มีเหตุการณ์ตัวอย่างคือการยึดร้านช็อคโกแลตกลางเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยคนพวกนี้จะไม่มีประวัติอาชญากรรม จึงเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่หนักใจในการป้องกัน เพราะไม่มีจุดสังเกตอะไรที่ชัดเจน นอกเหนือจากความต่อเนื่องทางความคิดที่จะก่อเหตุซ้ำๆ
“การกำหนดนโยบายทั้งภายในและนโยบายด้านการต่างประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลแต่ละประเทศ คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะนำพาประเทศนั้นๆ ให้เผชิญกับการก่อการร้ายจากพวกโฮมโกรว์น หรือโลนวูล์ฟ” ศ.ดร.สุรชาติ สรุป
แน่นอนว่าถึงแม้อาจารย์ไม่ได้ระบุชัดๆ ถึงประเทศไทย แต่บทสรุปนี้ย่อมหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย
ทั้งหมดนั้นเป็นข้อน่ากังวลในแง่ของบุคคลที่ก่อเหตุ แต่อีกด้านหนึ่งที่น่าวิตกไม่แพ้กัน ก็คือ พื้นที่ก่อเหตุ หรือสมรภูมิของกลุ่มก่อการร้าย ได้เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเขาห่างไกล มาเป็นการก่อวินาศกรรมขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหลวง
ฉะนั้นมาตรการป้องกันรักษาเมือง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือการก่อการร้ายสมัยใหม่
บทเรียนเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ที่ฝรั่งเศส แต่ยังรวมถึงสหรัฐ อังกฤศ สเปน อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทยของเราเอง
ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า เหตุระเบิดที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ถือเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยควรศึกษาถึงระบบการป้องกันเหตุรุนแรงในเมือง เพราะความเป็นเมืองสมัยใหม่มีความเปราะบางสูงมาก คนในแวดวงความมั่นคงเห็นตรงกันว่า เมืองเป็นเป้าหมายที่ป้องกันได้อย่างยากลำบาก
หากมองย้อนกลับไปในอดีต เหตุก่อการร้ายในกรุงมาดริด ประเทศสเปน (ระเบิดรถไฟเมื่อปี 2547) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ระเบิดรถไฟใต้ดิน ปี 2548) และเหตุ 911 ที่สหรัฐอเมริกา (ยึดเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ปี 2544) หรือแม้แต่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย (ระเบิดหลายจุดในเมือง ปี 2554) และเหตุระเบิดที่ไนท์คลับบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย (ปี 2545) ถือเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า เมืองมีความเปราะบาง เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุร้าย
อย่างเหตุการณ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้ก่อการร้ายเลือกวันลงมือในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน เนื่องจากวันศุกร์ของสังคมตะวันตกจะเป็นการทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ และประชาชนที่เลิกจากการทำงานก็จะใช้เวลาช่วงคืนวันศุกร์ในการไปรวมตัวที่สนามกีฬา เวทีคอนเสิร์ต หรือไปยังสถานบันเทิงยามค่ำคืน ทำให้มีผู้คนรวมตัวกันอยู่จำนวนมาก โดยสถานที่ที่มีคนชุมนุมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเป้าหมายใหม่ของผู้ก่อการร้าย
จากบทเรียนเหล่านี้ทำให้หน่วยงานความมั่นคงเริ่มมองเห็นสัญญาณว่า ผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีเป้าหมายทำลายทรัพย์สินและสถานที่สำคัญของรัฐบาล แต่พุ่งเป้าหมายไปที่ชีวิตของประชาชนอย่างไม่จำแนก รวมไปถึงพื้นที่เปิดอย่างพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะมีประชาชนไปรวมตัวทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น การต่อต้านการก่อการร้ายกับเมืองสมัยใหม่ จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องคิดอย่างละเอียดในการหาวิธีป้องกัน เพราะในอดีตยุคสงครามเย็น และสงครามคอมมิวนิสต์ จะเป็นการสู้รบในพื้นที่ห่างไกลในป่าเขา จึงไม่กระทบกับชีวิตคนในเมือง
แต่ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ลอนดอน ปารีส หรือแม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามเริ่มเกิดในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ เพราะเมืองเป็นพื้นที่เปิด ทำให้มีปัจจัยทุกอย่างที่สามารถนำไปสู่การก่อการร้ายได้ และผู้ก่อการร้ายสามารถลงมือได้ทุกเวลา แม้ประเทศฝรั่งเศสจะมีระบบการป้องกันเมืองที่เข้มแข็ง รวมถึงเจ้าหน้าที่และหน่วยข่าวกรองที่เก่งระดับต้นๆ ของยุโรป แต่คนร้ายก็ยังสามารถก่อเหตุได้
ส่วนกรณีที่ผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของไทยมักพูดว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของการก่อการร้ายนั้น ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ก็เป็นการอธิบายที่ถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่การก่อการร้ายสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องมุ่งเป้าประสงค์ไปที่ประเทศที่เป็นเป้าหมายโดยตรง เพราะสามารถลงมือก่อเหตุในประเทศที่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นการลงมือเชิงสัญลักษณ์ได้ เหตุก่อการร้ายที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ไม่ได้เกิดจากการที่ไทยเป็นเป้าหมายหลัก แต่เป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์โดยสภาพที่มีผลต่อชาติตะวันตกที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง
“สิ่งสำคัญในวันนี้ คือ ประเทศไทยต้องการการคิดระบบป้องกันเมืองแบบใหม่ เหมือนที่หลายชาติในยุโรปจัดทำขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบและจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว อย่างระบบกล้องซีซีทีวีที่มีความสำคัญกับโลกสมัยใหม่ รวมถึงระบบการอพยพประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุร้าย และควรให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าในชีวิตประจำวัน เราอาจจะต้องประสบกับเหตุก่อการร้ายได้ทุกเวลา เช่นเดียวกับเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการป้องกันหลายๆ อย่างที่ปัจจุบันยังไม่มี"
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การให้ความรู้กับประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานที่ว่าวัตถุระเบิดมีรูปร่างหรือลักษณะอย่างไร เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร รวมถึงระบบการอพยพประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ การอพยพคนออกจากตึกสูงซึ่งมีความยากลำบาก
วันนี้ประเทศไทยทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนจะต้องมีการร่วมในการป้องกันเมือง และต้องเรียนรู้บทเรียนจากเหตุความรุนแรงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส...
อย่าให้ทุกอย่างลอยหายไปกับสายลมเหมือนที่ผ่านๆ มา!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข