28 สนามบินในสังกัด 'กรมการบินพลเรือน' แห่งไหนบ้างแทบร้าง คนเมิน
9 เดือนแรกของปีนี้ ท่าอากาศยานในสังกัดกรมการบินพลเรือนที่มี เที่ยวบินขึ้นลงน้อยสุด คือ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ร้าง โคราชร้อยกว่าเที่ยว กำลังเกิดใหม่อีกแห่งที่เบตง ใช้งบฯ 1.9 พันล้าน
ประเทศไทยกำลังจะมีการจัดตั้งหน่วยงานการบินพลเรือนแห่งใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังลุ้นการผ่าตัดครั้งนี้ จะปรับโฉม หรือเป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ หลังจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization:ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Program (USOAP) โดยกรมการบินพลเรือน ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย และเป็นหน่วยงานรับการตรวจสอบนั้น ปรากฎ ผลการตรวจสอบพบว่า การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย มีข้อบกพร่องจำนวนมาก
หรือเรียกว่า สอบตกมาตรฐาน ICAO
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีการสัมมนากฎหมายจัดตั้งหน่วยงานการบินพลเรือนแห่งใหม่จะนำประเทศไทยออกจากวิกฤตการบินได้หรือไม่ จัดโดย โครงการสถาบันกฎหมายและขนส่งและพาณิชยนาวี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพรต เสตสุวรรณ รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นไว้ โดยชี้ว่า บางสนามบินที่สังกัดกรมการบินพลเรือน แทบไม่มีใครบินเลย
พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงประเทศต้องสูญเสียเงินที่เป็นงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
“สนามบินที่ไม่มีคนบินเลย หมายังเมิน ผมเห็นว่า คายมันไปเถอะ หรือยกให้กองทัพอากาศ ยกให้กองทัพเรือ ยกให้ใครก็ได้ เพื่อให้มีการใช้งานจริง หรือขายไป เปลี่ยนสถานภาพสนามบินไปเป็นค่ายทหาร ค่ายลูกเสืออะไรก็ได้ เอาไปทำ เพราะสนามบินเหล่านี้ เป็นพวกไม่มีอนาคต” ผู้บริหารบางกอกแอร์เวย์ส ระบุ พร้อมกับเห็นว่า ที่ผ่านมาในอดีตสนามบินหลายๆ แห่งก็เกิดขึ้นมาจากความต้องการของนักการเมือง ไม่ได้มองศักยภาพในแง่ของธุรกิจ
นายพรต ยังเสนอแนะ ในเมื่อสนามบินแต่ละแห่งมีพื้นที่เป็นร้อยเป็นพันไร่ ก็ควรเปิดโอกาสให้เอกชนใช้พื้นที่บางส่วนทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เช่น สนามบินที่อุดรธานี มีเที่ยวบินลงจำนวนมาก ทำไมถึงไม่มีท่ารถอยู่บริเวณดังกล่าว ซึ่งจะยิ่งทำให้ศักยภาพสนามบินแห่งนี้ดีขึ้นไปอีก รวมถึงเปิดให้นำสินค้าชุมชนไปจำหน่าย เป็นต้น
ทีนี้ลองไปดูสนามบินไหนบ้าง ที่นักธุรกิจมองว่า ไร้อนาคต ด้วยที่ผ่านมาในอดีตสนามบินหลายๆ แห่งก็เกิดขึ้นมาจากความต้องการของนักการเมือง ไม่ได้มองศักยภาพเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบ พบว่า กรมการบินพลเรือน ซึ่งมีอัตรากำลังประมาณ 1,500 คน บริหารงานแบบราชการ ด้วยงบประมาณที่จำกัด มีภาระดูแลท่าอากาศยานในสังกัดทั้งหมด 28 แห่ง ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ดังนี้
ภาคเหนือ
ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานปาย ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานแพร่ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ท่าอากาศยานน่านนคร และท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก
ภาคกลาง
ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ
ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี
ภาคใต้
ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานนราธิวาส ท่าอากาศยานปัตตานี ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานตรัง
ทั้งนี้ เมื่อไปเปิดดูสถิติข้อมูลการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ ประจำปี 2558 ก็จะพบว่า แม้หลายสนามบินจะมีเครื่องบินบินมาลง แต่อัตราการขึ้นลงของเครื่องบินก็น้อยเที่ยว แทบไม่คุ้มค่า
9 เดือนแรกของปีนี้ ท่าอากาศยานในสังกัดกรมการบินพลเรือนที่มี เที่ยวบินขึ้นลงน้อยสุด คือ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ พื้นที่กว่า 4 พันไร่ ไม่มีเครื่องบินมาใช้บริการ แต่ข้อมูลการขนส่งฯ ระบุ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์มีเครื่องบินขึ้นลงเพียง 54 เที่ยว จำนวนผู้โดยสาร 48 คน คาดว่า ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินของทหาร
รองลงมา คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา 145 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสาร 3,125 คน ซึ่งสนามบินโคราชกลับมาร้างอีกครั้ง เมื่อ "กานต์แอร์" ประกาศหยุดบินเส้นทางโคราช-เชียงใหม่แบบถาวรช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนท่าอากาศยานปายมี 390 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสาร 3,769 คน เป็นต้น
ขณะที่สนามบินสร้างกำไรให้กรมการบินพลเรือนมากสุด เช่น กระบี่มีเที่ยวบินขึ้นลงมากสุด 21,064 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารกว่า 2.7 ล้านคน
รองลงมา คือ นครศรีธรรมราช อุดรธานี ตามลำดับ มีอัตราเที่ยวบินขึ้นลงหลักหมื่นเที่ยว และจำนวนผู้โดยสารหลักล้านคนขึ้นไป
เฉพาะแค่ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีเที่ยวบินขึ้นลงมากสุดนั้น ก่อนหน้านี้ “เปล่งยศ สกลกิติวัฒน์” ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ก็เคยยื่นข้อเสนอให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ โดยขอให้สนามบินกระบี่ โอนมาอยู่กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นผู้ดูแล แทนการอยู่ภายใต้การบริหารงานในระบบราชการ แบบฉบับ กรมการบินพลเรือน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้การทำงานไม่คล่องตัว โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ
นอกจากท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 28 แห่งแล้ว พื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย กำลังมีสนามบินเกิดอีกที่เบตง โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ของกรมการบินพลเรือน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2561 ซึ่งกรมการบินพลเรือน ต้นเรื่องเชื่อว่า สนามบินเบตงจะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความมั่นคง โดยสนามบินแห่งนี้ มีระยะห่างจากตัวเมืองเบตงประมาณ 15 กิโลเมตร บนเนื้อที่ 920 ไร่