“สิ่งที่ต้องการจากอนาคตประเทศใหม่” เสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม
หลังจากรัฐบาลประกาศตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ” (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตขุนคลัง เป็นหัวเรือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ” ( กยน.) นำโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยวาดฝันตอบโจทย์กู้วิกฤตฟื้นฟูประเทศ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สะท้อนสิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องการเห็น
“ย้ายเมืองหลวงไม่ใช่ทางออกวิกฤต” ถ้าไม่กระจายอำนาจ
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวต้องการให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการวางระบบป้องกันภัยพิบัติอย่างกว้างขวางและจริงจัง เนื่องจากในคณะกรรมการฟื้นฟูชุดดังกล่าวพบว่ามีเพียงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญ และดำเนินการตามบริบทสภาพพื้นที่เชิงบูรณาการโดยใช้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนกลไก
รองประธานสพม. กล่าวต่อว่า การฟื้นฟูประเทศไทยที่ดีที่สุดคือการหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการเข้าใจธรรมชาติ เพราะหากไม่มีการฟื้นฟูปัญหาที่ต้นเหตุอันเกิดจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
“ส่วนที่มีคนเสนอแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปนครนายกและเพชรบูรณ์เพื่อหนีภัยพิบัตินั้น ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุ ต่อให้ย้ายเมืองหลวง แต่ไม่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้บริหารจัดการตนเองตามศักยภาพทรัพยากรแล้ว ก็ไม่เกิดผล เพราะยังยึดติดกับศูนย์กลางอยู่” ลัดดาวัลย์ กล่าว
อนาคตไทยใหม่ต้องไม่ละเลย “3 มิติการพัฒนา”
ด้าน ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนการเกิดภัยพิบัติครั้งนี้มี 3 ประเด็น คือ 1.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด 2.กระบวนการจัดการของภาครัฐในภาวะฉุกเฉินขาดความเป็นเอกภาพ และ 3.สังคมไทยยังแฝงไปด้วยจิตสำนึก 2 ด้าน คือ เสียสละและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นจาก 3 มิตินี้ควรนำเป็นแนวทางในการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยการกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่น ซึ่งดีกว่าการรวมอำนาจบริหารจัดการที่ส่วนกลาง ซึ่งยังสามารถป้องกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐด้วย เพราะทุกฝ่ายมีส่วนตัดสินใจเท่าเทียมกัน
“นักวิชาการใน กยอ. และ กยน.ไม่ควรคิดและกำหนดทิศทางของประเทศชาติเอง หากเป็นเช่นนั้นภัยพิบัติก็จะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากวิธีการที่หลายฝ่ายกำลังเสนอเป็นเพียงการต่อสู้ แต่มิใช่การศึกษาเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ ควรให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดทิศทางประเทศ” นายไพโรจน์กล่าว
“ปราชญ์ชาวบ้าน” ชี้ฟื้นประเทศอย่าเหลื่อมล้ำช่วยรากหญ้า-นายทุน
สน รูปสูง เลขานุการกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ ในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน เห็นด้วยกับการตั้ง กยน. และ กยอ. โดยเสนอว่ารัฐบาลต้องใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างการเมืองภาคประชาชนด้วย หากมีการตั้งคณะทำงานต้องให้มีหลายภาคส่วน ให้คนมีความรู้ความสามารถ ให้มีผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือภาคส่วนชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวนโยบายด้านต่างๆ และการทำงานร่วมกัน เพื่อจะได้มีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่าให้เพียงนักวิชาการไปนั่งกำหนดในห้องประชุม
"ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน เช่นผมอยู่อีสาน น้ำท่วมทำให้แรงงานกลับมาอยู่บ้านส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก เพราะคนไม่มีงานทำ อีกประเด็นคือความเหลื่อมล้ำ เพราะน้ำท่วมไร่นาบ้านช่องมานานรัฐบาลเพิ่งมาช่วย แต่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม นายทุนร้องขออย่างไรรัฐทำตามหมด การฟื้นฟูเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศต้องให้ความสำคัญชุมชนและเกษตรกรรมด้วย อย่าเอาใจแค่นายทุน ไม่ใช่จ่ายให้ไร่ละ 2 พันบาทก็จบ ต้องมองว่าระยะยาวจะทำอย่างไร" เลขานุการฯสภาองค์กรชุมชน กล่าว
“กยอ.-กยน.ล้มเหลว” ถ้าภาคประชาสังคมไม่มีส่วนร่วม
ปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวว่า จากการจับตาดูความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการชุดนี้ เห็นว่ามุ่งไปในเรื่องเศรษฐกิจระดับมหาภาคมากกว่า ยังไม่ได้เน้นเรื่องชุมชนหรือท้องถิ่น แต่โดยรวมยังมองว่าภาคธุรกิจเป็นอย่างไร จะฟื้นฟูแบบไหนมากกว่า ทั้งที่ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน คนตัวเล็กๆที่เป็นชาวบ้านลำบากกว่าคนที่มีฐานะหรือคนรวย ฉะนั้นรัฐบาลหรือกรรมการที่ตั้งขึ้นมาไม่ควรละเลยคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
"การทำงานต้องมีภาคประชาชนเข้าร่วม ความเสียหายมันเกิดกว้างขวาง กระทบคนจำนวนมาก ก็ควรให้มีครบทุกองค์ประกอบ ที่ผ่านมาการรับมือภัยพิบัติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รัฐบาลถือว่าสอบตก แต่ถ้ายังไม่เน้นให้มีชุมชนหรือหน่วยเล็กๆในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าภัยพิบัติเกิดขึ้นอีก ก็จะเจอปัญหาเหมือนเดิม การจัดการภัยพิบัติหรือการจะสร้างประเทศอะไร ต้องให้ผู้ประสบภัยให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย ถ้าไม่มีองค์ประกอบภาคประชาสังคม ก็สะท้อนความล้มเหลว วิธีคิดรวมศูนย์ชัดเจน" ปรีดา คงแป้น กล่าวในที่สุด
........................................
วันนี้ กยอ.เพิ่งเริ่มต้นประชุมนัดแรก ท่ามกลางสายตาประชาชนที่กำลังจับจ้องว่า "การฟื้นฟูสร้างอนาคตประเทศไทยใหม่" หลังภัยพิับัิติ จะเดินไปในทิศทางที่แก้ปัญหาเก่า-เป็นความหวังใหม่ได้จริงหรือไม่? อย่างไร? และท่ามกลางเสียงท้วงติงของภาคประชาสังคมว่าคณะกรรมการชุดนี้ขาดการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วนในสังคมอย่างที่ควรจะเป็น!!