ถอดบทเรียนจากหนังสือ ‘เด็กคลุมโม่ง’ วอนสื่อหยุดเขียนเพื่อขายข่าวกระทบสิทธิเด็ก
สถาบันอิศรา เปิดตัวหนังสือเด็กคลุมโม่ง ถอดบทเรียนสิทธิเด็ก 'ทิชา ณ นคร' ชี้เด็กถูกคลุมโม่งเเถลงสื่อบั่นทอนจิตใจทำดี กู้ความรู้สึกกลับคืนยาก ด้านสื่อมวลชนอาวุโสเเนะเปลี่ยนวิธีคิด นำเสนอข่าวเฉพาะข้อเท็จจริง โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวละคร
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2558 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ
โดยในกิจกรรมมีการจัดเสวนา ถอดบทเรียนจากหนังสือ ‘เด็กคลุมโม่ง’ เขียนโดย ปรางทิพย์ ดาวเรือง ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พูดคุย กับเด็กและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการรายงานข่าวเด็ก จัดพิมพ์โดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 176 หน้า
น.ส.ปรางทิพย์ ดาวเรือง เปิดเผยถึงแนวคิดการผลิตหนังสือเด็กคลุมโม่งว่า เกิดขึ้นเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสถาบันอิศรา ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อจัดอบรมทำข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กมาตลอด 10 ปี จึงอยากให้เด็กได้มีสิทธิพูดหรือถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเอง นอกเหนือจากพูดคุยกับสื่อมวลชนกันเองว่า วินาทีนั้นเด็กเจออะไร และอยากให้สื่อมวลชนปฏิบัติต่อเขาอย่างไร
“ ‘คลุมโม่ง’ เป็นคำปกติ เมื่อพูดขึ้นจะทราบทันทีว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกนำเสนอข่าวหรือนำตัวออกสื่อ ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ ผู้ใหญ่มักคิดว่าการปกป้องเด็กทำได้ง่ายด้วยการนำหน้ากากโม่งมาคลุมใบหน้า จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ ส่วนจะสะท้อนความรู้สึก ชีวิต และจิตใจของเด็กอย่างไร ต้องติดตามในหนังสือเล่มนี้” ผู้เขียนหนังสือ เด็กคลุมโม่ง กล่าว
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักมองการคลุมโม่งเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็ก แต่ไม่เคยถามเด็กเหล่านั้นถึงความรู้สึก จึงตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นมากเพียงใดนำเด็กไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และทำไปเพื่ออะไร หากไม่ทำได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการคิดอย่างจริงจัง นอกเสียจากติดกับดักว่า เมื่อคลุมโม่งแล้วเป็นการปกป้องเด็ก
ทั้งนี้ ได้ค้นพบกรณีตัวอย่างจากเด็กบ้านกาญจนาหลายคน เมื่อถูกคลุมโม่งและนำตัวไปแถลงข่าว เด็กจะรู้สึกว่า เป็นคนไม่ดีโดยสมบูรณ์ ทำให้ถูกกดทับไว้อย่างหนักหน่วง ส่งผลให้พลังและแรงบันดาลใจที่จะทำความดีหายไป อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตดำเนินต่อไปนั้นต้องมีคนเข้าไปกู้ความรู้สึกกลับคืนมา แต่ยิ่งคลุมโม่งเด็ก และอยู่ในพื้นที่ข่าวหลายวัน การเข้าไปกู้คืนความรู้สึกกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เปรียบได้กับหลุมลึกที่ไม่รู้จะปีนป่ายขึ้นมาได้อย่างไร
ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวถึงการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนอยากให้มีการทบทวน เนื่องจากเด็กยังไม่มีทักษะในการวิเคราะห์และพิจารณาโดยเฉพาะพาดหัวข่าวที่มีการเทน้ำหนัก บางครั้งทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถอาศัยในชุมชนได้ ยิ่งเป็นลูกคนใหญ่คนโต เด็กยิ่งถูกพ่อแม่ตำหนิซ้ำเติม ดังนั้น การตกอยู่ในเหตุการณ์ที่เลวร้าย สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่มาของปัญหา และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร และขอให้นักเล่าข่าวให้ความสำคัญด้วย โดยเฉพาะสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม ดังนั้นต้องหยุดการเขียนเพื่อขายข่าว
สุดท้ายนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.บริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ทำให้บรรณาธิการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่จะเห็นว่า การระมัดระวังที่เกิดขึ้น เพราะกลัวโดนโทษทางอาญา แต่มิได้ระมัดระวังเพื่อปกป้องสิทธิเด็กโดยพื้นฐาน ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิด นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวละครในข่าว .