เปิดดูวงเงินชำระ 'ค่าโง่' บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 9.8 พันล้าน
คำนวณตัวเลขละเอียดค่าโง่คลองด่านจากสำนักงบประมาณจ่ายจริง 9.8 พันล้านบาท งวดแรก-งวดสอง สกุลเงินดอลลาร์ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 11 พ.ย. 58 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มหากาพย์ทุจริตที่มีการล็อกสเปก เปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อเอื้อพวกพ้อง ถึงวันนี้ได้ทำประเทศชาติสูญเงินแล้วไม่ต่ำกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 นั้น โดยจะมีการแบ่งชำระออกเป็น 3 งวด ทั้งเป็นเงินไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ประชาชนผู้เสียภาษีอีกหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การคำนวณเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสุดสุดนั้น ต้องจ่ายทั้งสิ้นเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนเงินกี่พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมควบคุมมลพิษได้ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เพื่อนำไปชำระให้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด(กรณีคลองด่าน) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
งวดที่ 1. ชำระร้อยละ40 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เป็นเงินจำนวน 3,174 ล้านบาท และจำนวน 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
งวดที่ 2 ชำระร้อยละ 30 ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็นเงินจำนวน 2,380 ล้านบาท และจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
งวดที่3 ชำระร้อยละ 30 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เป็นเงินจำนวน 2,380 ล้านบาท และจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
สำหรับการชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ให้คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย 7 วัน ก่อนวันที่ทำการชำระ
จากนั้น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร 0506/41498 ไปยังสำนักงบประมาณเพื่อขอให้สำนักงบประมาณเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กรณีเสนอเรื่องขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้สำนักงานงบประมาณได้คำนวณและพิจารณาตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้การชำระเงินค่าจ้างค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวภายใต้วงเงินและเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เป็นไปตามที่คณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการ เป็นจำนวนเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 7,936 ล้านบาท กับ 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือเท่ากับ 1,954 ล้านบาท โดยคำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เท่ากับ 36 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,891 ล้านบาท
โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนทั้งสิ้น 6,923 ล้านบาท เพื่อชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องพร้อมดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน งวดที่ 1 และงวดที่ 2 ที่ถึงกำหนดจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ดังนี้
งวดที่1 วงเงิน 3,174 ล้านบาท และ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือเท่ากับ 781 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,956 ล้านบาท
งวดที่ 2 วงเงิน 2,380 ล้านบาท และ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือเท่ากับ 586 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,967 ล้านบาท
ส่วนเงินที่ต้องชำระงวดที่ 3 จำนวน 2,380 ล้านบาท และ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ให้กรมควบคุมมลพิษเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามขั้นตอนต่อไป
ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้วงเงินบาทเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้ข้างต้น โดยวงเงินสกุลต่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบไม่เปลี่ยนแปลง ให้กรมควบคุมมลพิษขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวได้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะส่งหนังสือเพื่อขออนุมัติงบประมาณนั้น กรมควบคุมมลพิษได้ส่งหนังสือขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเรื่องวิธีการคำนวณและการจ่ายค่าความเสียหายต่อสำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครองถึง 7 ครั้ง
รวมถึงการแจ้งข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อ้างเหตุจำนวนเงินที่ต้องชำระมีมูลค่าสูง ซึ่งกรมควบคุมมลพิษไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้สำหรับการนี้ จึงต้องขอให้งบกลางจากรัฐบาล รวมถึงมีอุปสรรคด้านงบประมาณ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินให้เป็นตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการกำหนด
พร้อมทั้งมีการส่งหนังสือเพื่อขอลดดอกเบี้ยและขยายเวลาการชำระเงินไปยังบริษัทกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี อีกหลายครั้งด้วยเช่นกัน
สำหรับกรณีที่มีภาคประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐประวิงเวลาในการจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น ศาสตราจารย์ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้มุมมองด้านกฎหมายต่อกรณีดังกล่าวสั้น ๆ โดยเห็นว่า อย่างไรก็ตามจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดซึ่งถือเป็นที่สุดแล้ว
"ตามหลักของกฎหมายจะประวิงเวลาเพื่อรอการพิจารณาคดีที่ฟ้องไว้อีกศาลหนึ่งซึ่งเป็นคนละประเด็นไม่ได้ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องจ่ายตามที่ศาลได้พิจารณา"
ซึ่งความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับคำพุูดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุ จะไม่จ่ายก็ไม่ได้!! กรณีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านซึ่งทำให้รัฐเสียเงินงบประมาณไปนับหมื่นๆล้านบาท แต่บ่อบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ ซ้ำยังต้องเสียค่าโง่อีกเกือบหมื่นล้านบาท
รายละเอียดเพิ่มเติม:อนุมัติงบกลาง ปี 2559 เพื่อนำไปชำระ แพ้คดีคลองด่าน