สพฉ. เตือนอุบัติเหตุช่วงลอยกระทง ระวังเด็กจมน้ำ - เล่นพลุ ประทัด
สพฉ. เตือนประชาชนระวัง 2 อุบัติเหตุเสี่ยง ที่ทำให้เจ็บป่วยฉุกเฉินในเทศกาลลอยกระทง แนะระวังเด็กเล็กไม่ให้ลงเก็บเงินในกระทงเพราะเสี่ยงจมน้ำ ชี้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ห่วงคนเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ หากเล่นแล้วพลาดจนระเบิด อาจเสี่ยงสูญเสียอวัยวะสำคัญ
ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะมีขึ้นภายในอาทิตย์นี้นั้น เป็นช่วงที่มีสถิติของการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุดเช่นหลายๆ เทศกาลของไทยที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รวบรวมอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทงเพื่อให้ประชาชนที่จะออกไปท่องเที่ยวในเทศกาลสำคัญนี้ได้เตรียมตัวรับมือกับอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองและคนใกล้ชิดได้
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทง คือ อุบัติเหตุจากการตกน้ำ จมน้ำ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่มรประชาชนเสี่ยงตกน้ำ จมน้ำ และเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งมาจากสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้ การพลัดตกน้ำเพราะผู้คนเบียดเสียด หรือดื่มสุราฉลองในเทศกาลลอยกระทงจนไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของตนเองได้จนทำให้ผลัดตกน้ำจนเสียชีวิต
ส่วนสาเหตุของการจมน้ำที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดอีกเรื่องคือเด็กเล็กที่ชอบลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง ซึ่งผู้ปกครองเองควรดูและบุตรหลานของตนเองอย่างใกล้ชิดไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่ใกล้กับแม่น้ำตามลำพังหรือลงไปเก็บเศษเงินในกระทงตอนค่ำคืน และ ควรพาบุตรหลานไปลอยกระทงในบริเวณที่จัดไว้ให้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ
เลขาธิการสพฉ.กล่าวว่า สำหรับวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเราพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำควรช่วยเหลือโดยคิดถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย โดยวิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น อย่างแรกคือการตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่
ทั้งนี้เมื่อน้ำคนขึ้นมาจากน้ำได้แล้วนั้นให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 และหากสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจและช่วยหายใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก
นพ.อนุชากล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือเด็กจมน้ำนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบาก
“ทั้งนี้เมื่อท่านนำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วให้รีบนำเด็ก วางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพ ( CPR) โดยวางส้นมือไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ กดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็ว 100 – 120 ครั้ง ต่อนาที และไม่มีการหยุด ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล”เลขาธิการสพฉ.กล่าว
นพ.อนุชา ยังเปิดเผยถึงอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินลำดับที่ 2 คือ อุบัติเหตุจากการจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงเทศกาลลอยกระทวงเหมือนที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาให้ข้อมูลเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนว่าให้ระวังการจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟให้มาก เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้อีกด้วย ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัดมีดังนี้
เมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิดของประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟนั้น ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน
ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม.
นพ.อนุชากล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า หากได้รับบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที และสำหรับการปฐมพยาบาลสำหรับแผลไฟไหม้นั้นให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก โดยห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤติ คือมีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
“เทศกาลลอยกระทง ถือเป็นเทศกาลสำคัญของไทยที่เราจะได้แสดงออกถึงการขอขมาในสิ่งที่เราได้ล่วงเกินต่อพระแม่คงคา ผมอยากให้ทุกคนท่องเที่ยวและเข้าร่วมในเทศกาลนี้อย่างมีความสุขไม่มีความทุกข์จากอุบัติหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินดังนั้นจึงอยากฝากให้ประชาชนทุกคนดูแลตนเองให้มากๆ และหากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินสายด่วน 1669 ของเราก็พร้อมให้บริการกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการสพฉ.กล่าว
ภาพประกอบ:ลอยกระทง-เว็บไซต์ sanook