หมอประกิต ชี้รัฐไทยต้องมีจุดยืน ระบบอนุญาโตตุลาการยาสูบ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แนะรัฐบาลไทยยึดจุดยืนเจรจาการค้าเสรี กำหนดให้ยาสูบเป็นสินค้าไม่ปกติ และไม่สามารถใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่เอกชนฟ้องรัฐได้ในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยเนื้อหาความตกลงหุ้นส่วนการค้าแปซิฟิก (ทีพีพี) ข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ที่ผลักดันโดยสหรัฐอเมริกา และเห็นชอบโดย 12 ชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้ายาสูบ ภาคีประเทศที่ร่วมลงนามสามารถที่จะเลือกให้มีการยกเว้น การใช้กลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในกรณีพิพาทการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับรัฐบาลเกี่ยวกับสินค้ายาสูบ ซึ่งหมายความว่า กรณีพิพาททางการค้ายาสูบระหว่างประเทศ จะอาศัยกลไกระหว่างรัฐต่อรัฐผ่านองค์การการค้าโลก เท่านั้น
ศ.นพ.ประกิต กล่าวถึงที่มาของข้อยกเว้นดังกล่าว เนื่องจากมาเลเซีย และออสเตรเลียมีจุดยืน ไม่ให้ความตกลงหุ้นส่วนการค้าแปซิฟิก มีบทบัญญัติที่ให้สิทธิบริษัทบุหรี่ฟ้องนโยบายหรือกฎหมายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจยาสูบ ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทบุหรี่ได้ใช้กลไกนี้ในการยับยั้งกฎหมายควบคุมยาสูบที่ประเทศต่าง ๆปฏิบัติตามข้อผูกพักในฐานะภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ดังกรณีที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติฟิลลิป มอร์ริส ฟ้องประเทศอุรุกวัย กรณีจำกัดให้ขายบุหรี่ได้เพียงยี่ห้อละหนึ่งผลิตภัณฑ์ และฟ้องออสเตรเลีย กรณีกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบที่ห้ามพิมพ์โลโก้ลวดลายสีสันบนซองบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลไทยไม่ได้เป็นภาคีหุ้นส่วนการค้าแปซิฟิก แต่รัฐบาลไทยจะต้องยืนยันจุดยืนนี้ ในการเจรจาการค้าเสรี ทั้งระดับทวิและพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเจรจากับอียู เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมีอิทธิพลมากมาย สุดท้ายต้องยอมรับข้อคัดค้านของนานาประเทศ ที่กำหนดให้ยาสูบเป็นสินค้าไม่ปกติ และไม่สามารถใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่เอกชนฟ้องรัฐได้ในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง