“มาร์ค”ประชุมร่วม 7 จว.เค้นเป้าแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม
นายกฯวีดีโอคอนเฟอเรนซ์หน่วยงาน-ผู้ว่าฯ-ประชาชน ซ้อมความเข้าใจประกันสังคมแรงงานนอกระบบ ดีเดย์รับวันแรงงานเปิด 2 ทางเลือก จ่าย 70 ได้ 3 สิทธิ์-จ่าย 100 เพิ่มบำเหน็จชรา รมว.แรงงานแจงสิทธิประโยชน์ เผยไม่ตัดสิทธิรับกองทุนอื่น
วันที่ 25 ก.พ. 54 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกลหรือวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนส่วนราชการ เรื่องการประกันสังคมแรงงานนอกระบบ ในพื้นที่สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ แพร่ ขอนแก่น นครปฐม ชลบุรี และรับฟังปัญหาจากประชาชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประกันสังคมถือเป็นระบบสวัสดิการที่มั่นคงยั่งยืนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามขยายประกันสังคมให้ครบคลุมประชาชนจำนวนมาก แต่ก็บริหารจัดการได้เฉพาะส่วนที่ทำงานในสถานประกอบการ และแม้กฎหมายอนุญาตให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ แต่ก็ไม่มีแรงจูงใจ สำนักงานประกันสังคมพยายามแก้ปัญหาโดยปรับจำนวนเงินสมทบที่แรงงานนอกระบบต้องส่งเข้ากองทุนจาก 3,800 บาท/ปี ลงมาเป็น 280 บาท/เดือน แต่ก็ไม่จูงใจพอ อาจเพราะจำนวนเงินยังสูงไปและไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายอื่นๆจะร่วมสมทบอย่างไร เพราะไม่มีนายจ้าง
นายกฯ กล่าวว่าวันนี้รัฐบาลได้สร้าง 2 ทางเลือกคือ 1.ให้ประชาชนสมทบ 70 บาท รัฐบาลสมทบให้อีก 30 บาท รวมเป็นเบี้ยประกัน 100 บาทต่อเดือน ครอบคุลมสิทธิประโยชน์ 3 ด้านคือ การชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ได้สิทธิในเรื่องของทุพพลภาพ และกรณีการเสียชีวิต 2. ประชาชนต้องจ่ายเดือนละ 100 บาท และรัฐบาลจะอุดหนุนให้ 50 บาท ก็จะได้รับสิทธิบำเหน็จชราภาพเพิ่ม ทั้งนี้กระทรวงแรงงานพยายามเร่งรัดให้สำเร็จในวันที่ 1 พ.ค.ซึ่งตรงกับวันแรงงาน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะต้องมีการปรับปรุงในส่วนของสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการต่างๆเพิ่มขึ้น สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันตนตามมาตรา 40 คือกรณีวงเงิน 100 บาท ถ้าเจ็บป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล นอนพักรักษาไม่ต่ำกว่า 2 วัน จะได้รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท กรณีทุพพลภาพจะได้รับเงินตอบแทนทุกเดือน 15 ปีในอัตรา 500-1,000 บาท ตามระยะเวลาที่ส่งเงิน โดยต้องมีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป กรณีเสียชีวิตมีเงื่อนไขอย่างเดียวคือต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ใน 1 ปี จะได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท
ส่วนกรณีวงเงิน 150 บาท จะได้รับสิทธิเพิ่มคือเงินชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ตามเงื่อนไขที่ประกาศโดยมีการคิดค่าตอบแทนต่างๆรายปีสมทบด้วย ทั้งนี้ผู้ได้รับสิทธิตรงนี้จะได้สิทธิและบริการอย่างอื่นจากรัฐครบถ้วน ไม่ถูกตัดสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการ(ผวจ.)จังหวัดสงขลา กล่าวว่าสงขลามีแรงงานนอกระบบ 79,000 คน คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ 24,000 คน ปัจจุบันมีผู้สมัครแล้ว 517 คน ที่ผ่านมาทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการผ่านเครือข่ายและแกนนำกลุ่มต่างๆทั้งระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น
นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าจังหวัดมีแรงงานนอกระบบ 92,000 คน คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ 40,000 คน ได้แจกใบสมัครให้ผู้สนใจแล้ว 20,000 ฉบับ
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่าตั้งเป้าให้คนเข้าร่วมโครงการ 56,000 คน โดยมุ่งเน้นคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และประชาชนสนใจการประกันตนแบบที่ 2 ที่จ่ายเบี้ยประกัน 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท ซึ่งได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น
นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.แพร่ กล่าวว่าจังหวัดมีแรงงานนอกระบบ 237,000 คน ตั้งเป้าให้เข้าร่วมโครงการ 100,000 คน ล่าสุดมีผู้สมัคร 10,000 คน ที่ผ่านมาได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆทุกระดับสร้างความเข้าใจให้ประชาชน พร้อมขอให้รัฐบาลขยายจุดชำระเบี้ยประกัน จุดรับสิทธิประโยชน์ และจุดรับบริการมาอยู่ในท้องถิ่นที่ประชาชนอาศัย เพื่ออำนวยความสะดวก โดยดึงส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน
นายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ.นครปฐม กล่าวว่าจังหวัดมีแรงงานนอกระบบเข้าร่วมโครงการ 35,000 คน จากเดิมที่ตั้งเป้า 10,000 คน สำหรับกลไกการดำเนินงานได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัดเป็นประธาน และให้หัวหน้าส่วนราชการแต่ละอำเภอเป็นกรรมการ และยังมีอาสาสมัครภาคประชาชนช่วยประชาสัมพันธ์
ตัวแทนประชาชนนครปฐม กล่าวว่าการจำกัดอายุผู้เข้าร่วมโครงการถึงอายุ 60 ปียังน้อยเกินไป อยากให้ขยายถึง 65 ปี และอยากให้เพิ่มจุดชำระเบี้ยประกัน อาทิ ที่ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-eleven
ตัวแทนประชาชนเชียงใหม่ กล่าวว่าอยากให้ขยายสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองให้มากกว่านี้ และขยายอายุผู้เข้าร่วมโครงการจาก 60 เป็น 65 ปี ขยายช่องทางการให้บริการ อาทิ จุดชำระเบี้ย จุดรับการบริการให้อยู่ในที่ชุมชนและท้องถิ่นที่อาศัย
ตัวแทนประชาชนแพร่ เสนอข้อคิดเห็นได้แก่ 1.ขยายอายุผู้เข้าร่วมโครงการเป็นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 100 ปี 2.ปรับเปลี่ยนหลักการจ่ายเงินประกันเป็นมาตรฐานเดียวกันคือจ่าย 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท 3.ให้ปรับเปลี่ยนจากจ่ายเป็นรายเดือนเปลี่ยนเป็นจ่ายเป็นรายปี
ตัวแทนประชาชนขอนแก่น กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นการให้โอกาสแรงงานนอกระบบ เพราะที่ผ่านมาคนรากหญ้าไม่มีสวัสดิการคุ้มครองชีวิต เป็นเพียงสมาชิกฌาปนกิจเท่านั้น จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อเสียชีวิต และอยากฝากให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนตามโครงการนี้ให้ได้รับสิทธิเหมือนกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และผู้ที่ใช้สิทธิข้าราชการ
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชาสัมพันธ์โครงการจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน มี.ค.เป็นต้น สำหรับจุดให้บริการจะขยายให้ครอบคุลมสถานที่ต่างๆเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ทั้งนี้การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนที่มีศักยภาพและต้องการความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเดิมนั้น สามารถจ่ายเงินสบทบเพิ่มเติมได้เดือนละไม่เกิน 1,000 บาท และจ่ายล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน .