มาราฯโต้ข่าวพื้นที่ปลอดภัย 2 อำเภอนราฯ อ้างรอถกช่วงพูดคุยเป็นทางการ
"มารา ปาตานี" องค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่เปิดตัวพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลไทย ออกคำแถลงปฏิเสธข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนไทยบางแขนงว่า "มารา ปาตานี" ยอมตกลงกับรัฐบาลไทยเพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาสแล้ว
คำแถลงของ "มารา ปาตานี" ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ลงนามโดย อุสตาซ มูฮำหมัด สุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายมารา ปาตานี ระบุว่า ข่าวดังกล่าวนำเสนอในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2558 และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก รวมทั้งข่าวเช้าของสถานีโทรทัศน์บางแห่ง อ้างถึงข้อตกลงร่วมกันของคณะทำงานด้านเทคนิค ระหว่างรัฐบาลไทย, มารา ปาตานี และผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน ที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส คือ อำเภอบาเจาะ กับ อำเภอเจาะไอร้อง
โดย "มารา ปาตานี" ขอเน้นย้ำว่ารายงานข่าวชิ้นนี้ไม่มีมูลความจริง และเรื่องนี้ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงเลยบนโต๊ะพูดคุยตลอด 2 วันดังกล่าว
"มารา ปาตานี" มีความเห็นว่าการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ ถูกวางแผนโดยเจตนาจากบุคคลบางกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้นอันเป็นอันตรายต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่
ตอนท้ายของคำแถลง ระบุว่า "มารา ปาตานี" ขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนว่า ขณะนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้นประเด็นสำคัญใดๆ รวมทั้งการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" จะไม่ถูกกล่าวถึงจนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นขึ้น
4 ข้อสังเกตคำแถลงมาราฯ กับข่าวศูนย์อิศราฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงของ "มารา ปาตานี" มีรายละเอียดที่ไม่ตรงกับเนื้อหาข่าวที่รายงานโดย ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา หลายจุด อาทิ
1.ตามข่าวไม่ได้ระบุวัน-เวลาที่แน่ชัดที่คณะทำงานชุดเล็กของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ (มารา ปาตานี เรียกว่า คณะทำงานด้านเทคนิค) นัดพบปะพูดคุยกัน บอกแต่เพียงว่ามีการนัดประชุมกันช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน แต่ในคำแถลงของ "มารา ปาตานี" ระบุชัดว่ามีการนัดพูดคุยกันเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน แสดงว่ามีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยชุดเล็กจริง
2.ตามข่าวไม่ได้ระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "พื้นที่หยุดยิง" 2 อำเภอ คือ อำเภอบาเจาะ กับอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ร่วมกันแล้ว แต่รายงานข้อมูลว่า คณะทำงานชุดเล็กของทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันในเบื้องต้นว่าจะเสนอ "หมู่บ้านนำร่อง" ใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส คือ อำเภอบาเจาะ กับ อำเภอเจาะไอร้อง เป็น "พื้นที่ปลอดภัย" จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ ที่คาดว่าจะนัดพบกันในราวเดือนธันวาคมนี้
ฉะนั้นตามข่าวที่รายงานจึงชัดเจนว่า ขณะนี้การกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ยังไม่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงความเห็นร่วมว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน และเป็นเพียงพื้นที่นำร่อง "ระดับหมู่บ้าน" (อาจจะเป็นอำเภอละ 1-2 หมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก) ไม่ใช่การตกลงหยุดยิง 2 อำเภอ
3.แม้คำแถลงของ "มารา ปาตานี" จะอ้างว่าตลอด 2 วันของการพบปะพูดคุยกันของคณะทำงานชุดเล็ก ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ขึ้นมาหารือเลย แต่ประเด็น "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นข้อเสนอสำคัญ 1 ใน 3 ข้อของรัฐบาลไทยที่เสนอต่อ "มารา ปาตานี" และจากการเปิดเผยของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ยืนยันว่าในการพบปะพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการทุกครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลไทยเสนอมาตลอดให้เร่งกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกันเพื่อลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ เนื่องจากกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และยังเพื่อพิสูจน์ความเป็น "ตัวจริง" ของ "มารา ปาตานี" ด้วยว่ามีศักยภาพควบคุมความรุนแรงในพื้นที่ได้
ขณะที่คำแถลงของ พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ระบุชัดว่า คณะพูดคุยฯได้จัดทำชุดความคิดแล้วใน 3 ประเด็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย, เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาในพื้นที่ และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันก่อน โดยการจัดตั้ง "คณะทำงานเทคนิคร่วม" ที่ประกอบด้วยทุกฝ่าย ไปกำหนดแนวทางในประเด็นความร่วมมือให้ได้ภายใต้กรอบชุดความคิดดังกล่าว ซึ่งก็หมายความว่า "คณะทำงานเทคนิคร่วม" ต้องพูดคุยกันในรายละเอียดของ "ชุดความคิด" 3 ประเด็นหลัก โดยหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ด้วยนั่นเอง
4.การนำเสนอข่าวเรื่องนี้ของ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ดำเนินมาเป็นระยะตามความเคลื่อนไหวของคณะพูดคุยฯที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมต่อเนื่องมา เริ่มจากประเด็นการนัดพูดคุยรอบ 4 ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน (รัฐ-มาราฯนัดคุยรอบ 4 กลางพฤศจิกาฯ )
ตามด้วยประเด็นการเลื่อนพูดคุยรอบ 4 (เลื่อนพูดคุยสันติสุขรอบ 4 “มารา ปาตานี” เมินบีอาร์เอ็น)
จากนั้นจึงมีคำแถลงของ พลเอกอักษรา และปิดท้ายด้วยข้อมูลจากวงหารือของคณะทำงานชุดเล็ก (คณะทำงานเทคนิคร่วม) ให้เสนอหมู่บ้านนำร่องใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ปลอดภัย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 คำแถลงของ มารา ปาตานี
3 แกนนำมารา ปาตานี ในวันแถลงข่าวที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย