"วิลาศ" แจงข้อมูลทุจริตก่อสร้าง รัฐสภา
"วิลาศ" แจงยิบปมทุจริตก่อสร้าง อาคารรัฐสภาใหม่ บอก "ไม่เคยเห็นยุคไหนวิ่งเต้นกันบ้าเลือดเท่ายุคนี้"
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการทุจริตในการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่า โครงการก่อสร้างรัฐสภาและอาคารประกอบแห่งใหม่มีปัญหา เนื่องจาก ในสัญญาจ้างจะหมดกำหนดระยะเวลา 900 วัน ในวันที่ 24พ.ย.นี้ แต่การก่อสร้างดังกล่าวเพิ่งดำเนินการได้เพียง 16 เปอร์เซ็น ก่อนที่จะครบกำหนดนั้น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาในวงเงิน 11,000 ล้านบาทเศษ ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและเรียกค่าเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เชื่อว่า มีการร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจริง จึงมีคำสั่งเสนอให้ใช้มาตรา 44 ปลดนายจเร พันธ์เปลื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งรัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐจะต้องให้ความยุติธรรมและปกป้องเงินของราชการ แต่หลังจากนั้นก็มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา คือ 1.หลังจากนายพรเพชร เสนอให้ปลด นายจเรไปแล้วนั้น ก็อยู่ในช่วงที่ต้องคุยกันระหว่าง รัฐสภาและบริษัทชิโน-ไทย ฯ แต่เวลาให้สัมภาษณ์นายพรเพชรจะพูดในทำนองว่า สภานั้นทำผิด ซึ่งตนคิดว่า ผิดวิสัยของประธาน เพราะตามจริงแล้วต้องปกป้องรัฐสภา 2.ในชั้นข้าราชการประจำ มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เช่น มีการเปลี่ยนคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยทางบริษัทได้เสนอขอขยายเวลาสัญญา 487 วัน แต่คณะกรรมการ ฯ ชุดเดิมได้พิจารณาเสนอขยายเวลาสัญญาเพิ่ม 287 วัน ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ชุดเดิมถือว่า มีทั้งวิศกร สถาปนิกครบทุกสาขา รวมถึงอัยการ แต่ปรากฎว่า มีการตั้งคณะกรรมการ ฯ ชุดใหม่ขึ้นมา โดยมีเพียงจำนวน 10-11 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสภาทั้งหมด มีตัวแทนวิศวกรเพียง 3 คน มีการปรับขยายเวลาสัญญาเป็น 387 วัน
ทั้งนี้ การปรับระยะเวลาของคณะกรรม ฯ ชุดใหม่ มีการขยายเวลาออกไปอีก 100 วัน เท่ากับต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านบาท โดยการพิจารณาปรับระยะเวลามีการเรียกประชุมเพียงครั้งเดียว และไม่มีการพูดถึงเรื่องของการที่ขยายเวลาไปแล้วจะสามารถลดเงื่อนไขที่มีการเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ และ 3.หลังจากตั้งคณะกรรมการ ฯ ขึ้นมาใหม่ และมีการขยายสัญญาเรียบร้อยแล้ว มีการตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือโดนสอบสวนในสมัยนายสุวิจักขณ์ นาควัชรชัย อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปรับผิดชอบในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการย้ายผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัสดุ ซึ่งคนที่ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนั้น เคยทำงานในสมัยนายสุวิจักขณ์ และนางสุกัญญา หอมชื่นชม ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการสภา ที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลสำนักคลังและงบประมาณของสภา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. พอวันที่ 9 พ.ย. ก็ได้เปลี่ยนให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน โดยให้เหตุผลที่ย้าย 2 คนนี้ เพราะมีปัญหาการประมูลซื้อขายดินที่ยังค้างอยู่ ซึ่งจะเห็นว่า มีดินที่ยังกองอยู่ 30,000 กว่าคิว การประมูลซื้อขายนับว่าเร็วมาก และเนื่องจาก 2 คนนี้ไม่ยอมทำ เพราะให้เหตุผลว่า ผิดระเบียบ จึงทำให้โดนย้าย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีการขอตัวนายสุนทร รักเมือง อดีตผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ ในสมัยนายสุวิจักขณ์ ซึ่งถือว่า ยังต้องโดนสอบอีกหลายคดี หลังจากมีการย้ายไปเป็นผู้ตรวจการแล้ว วันนี้มีคำสั่งให้นายสุนทร กลับมาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลปฏิบัติราชการในสำนักการคลังและงบประมาณ ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า จะมีผอ.สำนักการคลังและงบประมาณไว้เพื่ออะไร จะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวจะอยู่ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. ซึ่งดูเหมือนเป็นการเอื้อให้บริษัทคู่สัญญากับสภา
"ขณะนี้ในสำนักงานเลขา ฯ สภาผู้แทนราษฎร กำลังมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ทั้งที่ปรึกษาและรองเลขาสภา ฯ ผมไม่เคยเห็นยุคไหนที่มีการวิ่งเต้นกันบ้าเลือดเท่ากับยุคนี้ หลายคนที่กำลังโดนสอบ ถูกตั้งเป็นกรรมการสอบ ทั้งที่ตัวเองก็โดนสอบ โดนกล่าวหาอยู่ ก็ไปเป็นกรรมการสอบ ดูเหมือนจะช่วยให้มีผลงาน จะได้ถูกเลื่อนขึ้น" นายวิลาศกล่าว
ขอบคุณข่าวจาก