“มาร์ค” เปิดประกันสังคมนอกระบบ รับวันแรงงาน 1 พ.ค.
นายกฯย้ำ 2 ทางเลือก สูตรจ่าย 70 ได้ 3 สิทธิ์-จ่าย 100 เพิ่มบำเหน็จชรา ตัวแทนแรงงานนอกระบบชี้สนใจสูตรแรกเพราะเข้ากองทุนเงินออมชาติได้ เมินสิทธิรักษาเพราะมีบัตรทอง รมว.แรงงานเตรียมสร้าง รพ.ประกันสังคมต้นแบบ
วันที่ 23 ก.พ.54 ที่สโมสรทหารบก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดสัมมนา “ปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ประกันสังคมไทยเข้มแข็ง” ในการสร้างระบบคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เช่น คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนพิการ ชาวนา ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เข้าร่วมกว่า 2,000 คน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ หากคนเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันก็จะกลายเป็นปัญหาและเกิดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งขึ้นได้ในอนาคต และทางเลือกที่รัฐบาลต้องทำคือประชาชนต้องมีกำลังจ่ายเงินสมทบ โดยรัฐบาลก็ร่วมจ่ายด้วยเพื่อเป็นแรงจูงใจ ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ต่างๆก็ต้องดีพอสมควร และต้องไม่ไปปิดโอกาสในหลักประกันอื่น ซึ่งในที่สุดจึงได้เสนอทางเลือก 2 ประการคือ 1.ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 ประการคือเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต 2.ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบ 50 บาท ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ 3 ประการเช่นกัน แต่เพิ่มบำเหน็จกรณีชราภาพอีกด้วย
“เราตั้งใจว่าจะดำเนินการให้ทันในวันที่ 1 พ.ค, ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ แต่ก่อนถึงวันนั้นผมได้เรียกประชุมทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่อขอทราบความคืบหน้า รัฐบาลได้ประกาศไปแล้วว่า ต้องการเห็นระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์เกิดขึ้นภายในปี 2559 แต่การสร้างหลักประกันตรงนี้ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญมาก ถ้าทำสำเร็จ นอกจากยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังวางรากฐานอนาคตด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า อยากให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) เร่งทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับแรงงานนอกระบบมากกว่านี้ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรา 40 ที่ออกมาใหม่ตามแผนนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลนี้ ทำให้ตัดสินใจลำบาก
นางสุจิน กล่าวด้วยว่า แรงงานนอกระบบสนใจสิทธิประโยชน์แบบที่ 1 มากกว่า เพราะนอกจากจะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ยังสามารถเข้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ(กอช.)ได้ ส่วนแบบที่ 2 มี แรงงานสนใจน้อยกว่า เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องบำเหน็จชราภาพแล้ว ไม่สามารถเข้ากองทุนเงินออมได้ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น ทั้ง 2 ตัวเลือกสามารถใช้บัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งแรงานส่วนใหญ่มีอยู่เดิมแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามยังเป็นห่วงเรื่องระบบการจัดเก็บเงินของทั้ง 2 กองทุน ว่าควรจะมีการบริหารจัดการให้ความสะดวกกับผู้ประกันตนที่อยู่ห่างไกลที่ควรจัดเก็บในจุดเดียว
ด้านนายเฉลิมชัย เปิดเผยว่าได้พูดคุยกับนายกฯ เรื่องการให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตนเลือกระบบการรักษาพยาบาลระหว่างประกันสังคมและบัตรทอง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไปพร้อมๆกันและมีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน
“กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ไม่ได้ปิดกั้นและพร้อมที่จะให้ผู้ประกันตนเลือกใช้ระบบไหนก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน สปส.จะปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่าภายในปีนี้จะขอความร่วมมือโรงพยาบาลศูนย์ 3-4 แห่ง เพื่อปรับปรุงให้เป็นโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบ โดยที่กระทรวงแรงงานและ สปส. อุดหนุนงบประมาณให้
“จริงๆแล้วถ้าไปดูรายละเอียดไม่มีความแตกต่างกัน ยืนยันว่าประกันสังคมไม่แข่งกับใครแต่จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อะไรที่เป็นข้อติติงก็ต้องเอามาปรับปรุง วันนี้ประกันสังคมพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการดูแลก็ไม่ได้น้อยกว่าระบบอื่นแน่นอน” นายเฉลิมชัย กล่าว .