ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพ.ร.บ.ประกันสังคม จำนวน 5 ฉบับ
วันที่ 17 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. ....
2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. ....
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ แก่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ....
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... และ
5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
รง. เสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จึงมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายลำดับรองเป็นระดับพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. ....
กำหนดให้ลูกจ้างของเนติบัณฑิตยสภา ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ลูกจ้างของสภากาชาดไทย ลูกจ้างของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีลักษณะงานที่เป็นกิจการนอกเหนือกิจการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย เป็นกิจการหรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. ....
กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ....
กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทย ไม่ว่าจะมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์หรือไม่ก็ตามให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ และให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
3.1 กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่าสิบสองเดือนให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ
3.2 กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่สิบสองเดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ....
กำหนดให้ลูกจ้างผู้ประกันตนในกรณีว่างงานมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันโดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีเหตุสุดวิสัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันเกิดจากธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติหรือผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยให้จ่ายเป็นรายเดือน และให้สำนักงานงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนเมื่อผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนลาออกจากงาน สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง
5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ....
กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย เดือนละสามสิบบาทให้แก่ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือน และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเดือนละยี่สิบบาทให้แก่ผู้ประกันตน แต่ละรายที่จ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือน