ดร.ถวิลวดี บุรีกุล : ดึง อปท.-ชุมชนร่วมสร้าง"แผนชาติ"รับมือภัยพิบัติ
แม้นายกรัฐมนตรีจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศกลับคืนมาจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่หายยับเยิน โดยระดม "ผู้รู้" เรื่องน้ำร่วมกันมากที่สุดครั้งนี้
แต่การที่องค์ประกอบของคณะกรรมการยังขาดตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และไม่มีกลไกดึงภูมิปัญญาจากชุมชนรวมถึงภาคประชาสังคมที่มีองค์ความรู้จากธรรมชาติซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดีกรีระดับดอกเตอร์ ทำให้หลายฝ่ายยังคงประเมินว่า การตั้ง กยอ. และ กยน.ยังไม่เพียงพอสำหรับการนับหนึ่งเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้าง "แผนชาติ" สำหรับการรับมือกับ "ภาวะฉุกเฉินทางภัยพิบัติ" ซึ่งเชื่อว่าจะต้องเผชิญบ่อยครั้งมากขึ้นในอนาคต
ที่สำคัญหากปราศจากกลไกที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่น ย่อมทำให้การจัดการปัญหาหรือวางมาตรการใดๆ ในอนาคตสุ่มเสี่ยงต่อการก่อความขัดแย้งขึ้นมาซ้ำเติมวิกฤตการณ์
"ถ้าจะตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่แค่เฉพาะหน้า ต้องมองเรื่องระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไม่ใช่แค่ข้าราชการ นักวิชาการ และนักการเมืองไม่กี่คน แต่ต้องมีภาคประชาชนร่วมด้วย และไม่ใช่เลือกเฉพาะพวกที่เก่งทางด้านเทคนิคอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องทางสังคม ต้องใช้ผู้รู้หลายศาสตร์ รวมทั้งชุมชนที่เผชิญกับปัญหาจริง และอยู่กับน้ำจริงๆ"
เป็นเสียงจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ให้ความเห็นในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน แต่ชุมชนกลับถูกละเลยเมื่อรัฐบาลเอ่ยถึงกระบวนการฟื้นฟูและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งๆที่ชุมชนนั่นเองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ และจากการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า
"เรื่องน้ำเป็นเรื่องที่จัดการยาก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีภาคประชาชนร่วมด้วย แต่กลับไม่มีบทบาทภาคประชาชนในคณะกรรมการ 2 ชุดใหม่ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ทั้งๆที่การจัดการน้ำต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ เกี่ยวพันกับจังหวัด อำเภอ และชุมชนต่างๆ มากมาย การวางแผนน้ำไม่ใช่แค่สร้างเขื่อน และต้องทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหางูกินหาง เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก เนื่องจากนักการเมืองต้องเอาใจฐานเสียงตัวเอง"
ประเด็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นต่างๆ จนกลายเป็นม็อบย่อยๆ คอยทลายพนังกั้นน้ำ เกิดขึ้นตั้งแต่น้ำเริ่มท่วม กระทั่งน้ำใกล้จะไหลลงทะเลอยู่แล้วในขณะนี้ก็ยังมีการชุมนุมของประชาชนแทบจะทุกวัน กลายเป็นปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณา
"ปัญหามวลชนนั้น ถ้าคุยกันดีๆ ก็แก้ได้ เราต้องมองบทบาทของ อปท.อย่างเข้าใจ เขาเป็นท้องถิ่น เขาก็ต้องสู้เพื่อท้องถิ่น ดูแลประชาชนที่เลือกเขามา ที่ผ่านมาจะเห็น อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) เล็กๆ หลายแห่งพยายามปกป้องพื้นที่ของตัวเอง เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่เลือกเขา แต่เมื่อปกป้องไม่ได้ น้ำเข้ากรุงเทพฯ อบต.เหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้ง"
นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ชี้ว่า สามารถแปรวิกฤติความขัดแย้งและความล้มเหลวจากการบริหารจัดการน้ำเที่ยวนี้ให้เป็นโอกาสได้ เพราะชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะประเทศไทยไม่มี "แผนชาติ"(National Plan) ในการกำหนดมาตรการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินว่าใครต้องทำอะไรที่ไหนอย่างไร
"เราไม่มีแผนฉุกเฉินที่เป็นแผนชาติ ไม่มีการจัดการอย่างบูรณาการ ไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่สามารถระดมข้อมูลจากทุกหน่วย ทุกพื้นที่ แล้วบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจากทุกภาคส่วน และมีอำนาจดึงองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนในการรับมือวิกฤติด้วย" ดร.ถวิลวดี กล่าว
จะว่าไปแล้วเรื่องสิทธิชุมชนหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีบัญญัติรับรองไว้ทั้งใน "ปฏิญญาริโอ" ค.ศ.1992 จากการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงในรัฐธรรมนูญของไทยเอง
"แต่ของเรากลับลืมไปเลย ไม่ได้ใช้เลย แม้แต่การเข้าถึงข้อมูลก็ยาก ประชาชนไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริง ข้อมูลไหนไม่จริง การร่วมจัดการน้ำโดยชุมชนแทบไม่มี ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ประชาชนต้องเสียเงินไปซื้อกระสอบทราย แต่พอวางกระสอบแล้วก็กั้นน้ำไม่ได้ พอน้ำลดต้องเสียเงินซ่อมบ้านอีก บางคนก็ต้องตกงานเพราะน้ำท่วมโรงงาน ถามว่าเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่" ดร.ถวิลวดี ตั้งคำถาม และว่า
"ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างระบบและวางแผน ต้องมีทางเลือกหลายๆทางเมื่อมีภาวะฉุกเฉินทางภัยพิบัติเกิดขึ้น อะไรต้องทำ อะไรควรทำ อะไรพึงทำ ทุกจุดที่น้ำไหลผ่านต้องมีแผนฉุกเฉินในระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน ต้องมีการฝึกอบรม และต้องมีการป้องกัน ทำเป็นวาระแห่งชาติ"
ส่วนอีกหลายๆ เรื่องที่ผิดพลาดเละเทะไปแล้วก็ได้เวลาต้องทบทวน โดยเฉพาะเรื่องผังเมือง
"บางพื้นที่ควรเป็นทางไหลของน้ำ แต่กลับไปสร้างสิ่งปลูกสร้าง การวางแผนใช้พื้นที่มีความสำคัญมาก ตามกฎหมายต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อให้น้ำหลากได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโรงงานกับหมู่บ้านจัดสรร แม้โครงการเล็กๆจะเป็นความบกพร่องของ อปท.ที่มีอำนาจอนุญาต และไปคิดเรื่องผลประโยชน์ แต่สำหรับโครงการใหญ่ๆที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้สร้างได้อย่างไร ทุกฝ่ายต้องทบทวน"
"เรื่องขยะพิษ ขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลก็สำคัญ จะเห็นได้ว่าเราแทบไม่มีแผนจัดการเลย ฉะนั้นต้องคิดว่าจะมีระบบจัดการอย่างไรเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ขณะนี้สหรัฐห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยแล้ว เพราะกลัวเรื่องสารปนเปื้อนในน้ำท่วมที่ไหลลงทะเล จะเห็นได้ว่าผลกระทบมันกว้างขวางมาก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นฝ่ายการเมืองต้องมองผลประโยชน์ของส่วนรวม"
"เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต้องไม่มี 'เรดเทป' (การปฏิบัติงานที่ยึดติดกับระเบียบขั้นตอนมากเกินไปจนกลายเป็นปัญหา) ซึ่งไม่ทันการณ์ ต้องมีช่องทางพิเศษ เป็นไปตามแผนฉุกเฉิน รัฐบาลกลางต้องเข้าใจท้องถิ่น ท้องถิ่นก็ต้องเข้าใจรัฐบาล ต้องคุยและประสานงานกัน เพราะท้องถิ่นมีทรัพยากรจำกัด รัฐบาลมีทรัพยากรมากกว่า แต่กลับไปใช้ 'อำนาจเหนือ' ไม่ใช้ 'อำนาจร่วม' ทั้งกับ อปท.และภาคประชาชน ถ้าแบ่งงานกันทำ มีแผนชัดเจน ก็จะรับมือได้ แต่นี่มั่วไปหมด ผู้นำเองก็ประสบการณ์น้อย ถ้าให้ชุมชนมาร่วมด้วยเยอะๆ การต่อต้านคัดค้านจะน้อยลง เพราะประชาชนเข้าใจ ต้องให้ทุกคนเป็นพระเอกร่วมกัน"
ดร.ถวิลวดี สรุปว่า การตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาลต้องไม่เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำเมกะโปรเจคในอนาคต และอยากให้นายกรัฐมนตรีมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญทุกด้านและเชื่อถือได้จริงๆ ฝ่ายค้านก็ช่วยได้ ต้องเลิกคิดเรื่องสี ลดอัตตา แต่เน้นบริหารงานอย่างมีกลยุทธ์ ปฏิบัติอย่างมีประชาธิปไตย และมองผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ พร้อมๆ กับสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ต้องมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง คิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง
ได้เวลาสรุปบทเรียนจากน้ำท่วมเพื่อร่วมกันสร้างวาระแห่งชาติกันแล้ว !