"โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก
การที่มีบุคคลสัญชาติฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายโจมตีกรุงปารีส จนมีผู้เสียชีวิตถึง 129 ราย บาดเจ็บหลายร้อยคน เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ทำให้ประเด็น โฮมโกรว์น เทอร์เรอริสต์ (Homegrown Terrorist) ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
คำๆ นี้มักจะเกี่ยวข้องกับอีกคำหนึ่ง คือ โลนวูล์ฟ เทอร์เรอริสต์ (Lone Wolf Terrorist) ซึ่งถูกหยิบยกมาอธิบายเหตุก่อการร้ายหลายๆ ครั้งในต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นระเบิดในงานบอสตัน มาราธอน ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2556 ซึ่งสองพี่น้องมือวางระเบิดเป็นคนสัญชาติอเมริกัน หรือเหตุการณ์ใช้อาวุธบุกยึดคาเฟ่ จับตัวประกันในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้ที่ก่อเหตุเพียงคนเดียวก็เป็นคนที่อาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียมาเป็นเวลานาน
ในเมืองไทยยังมีองค์ความรู้ในทางเปิดเกี่ยวกับ โฮมโกรว์น และ โลนวูล์ฟ ค่อนข้างน้อย เรื่องเหล่านี้มีการเรียนการสอนกันบ้างในห้องเรียนของหน่วยงานความมั่นคง เช่น โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลสาธารณะเป็นภาษาไทยให้ค้นหา อาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ โฮมโกรว์น หรือ โลนวูล์ฟ ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวของสังคมไทย
แต่ในยุคที่การก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ไม่ว่าประเทศใดในโลก และไทยเองก็เพิ่งเผชิญกับวิกฤตการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา การทำความเข้าใจกับแนวคิดก่อการร้ายสมัยใหม่จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะภัยก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า คำว่า โฮมโกรว์น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ใหม่ของการก่อการร้ายที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือจากการกระทำโดยกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศที่ส่งทีมปฏิบัติการเข้าไปก่อเหตุในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น เหตุการณ์ 9/11 (เหตุยึดเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐ เมื่อ 11 ก.ย.2544) และ London Bombing (เหตุระเบิดรถไฟใต้ดินกลางกรุงลอนดอน เมื่อเดือน ก.ค.2548) โดยฝีมือกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่ต่อมาได้มีพัฒนาการจากคนในชาติของตนเองที่ซึมซับคำสอนและอุดมการณ์ของกลุ่มก่อการร้าย หรือบางคนมีความเกลียดชังสภาพสังคมที่ตนดำรงอยู่ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงขึ้นในประเทศของตนเอง
สาเหตุสำคัญเกิดจากประเทศตะวันตกมีความแปลกแยกระหว่างผู้คนในสังคมสูงมาก โดยเฉพาะคนต่างเชื้อชาติหรือศาสนาที่เข้าไปอยู่ในสังคมยุโรปและอเมริกา เมื่อความเกลียดชังทวีถึงขีดสุด คนเหล่านี้สามารถลุกขึ้นมาก่อการร้ายโดยตนเอง ไม่ต้องให้ใครสั่ง วิธีการก็เรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมด
ลักษณะร่วมของคนกลุ่มนี้ มักจะอยู่คนเดียว แปลกแยกจากสังคม และซึมซับอุดมการณ์ก่อการร้ายหรือใช้ความรุนแรง บางคนจึงปฏิบัติการคนเดียว หรือแม้ปฏิบัติการเป็นกลุ่ม แต่ก็เป็นกลุ่มเล็กมาก เรียกว่า โลนวูล์ฟ ที่แปลตรงๆ แปลว่า "หมาป่าโดดเดี่ยว" หรือ "จิ้งจอกเดียวดาย" ในรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ใช้คำว่า "การก่อการร้ายตามลำพัง"
ปัจจุบัน โฮมโกรว์น ยังหมายรวมถึงคนในชาตินั้นๆ ที่ไปร่วมรบกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ในตะวันออกกลาง เพราะเลื่อมใสแนวทางหรืออุดมการณ์ของไอเอส เมื่อคนเหล่นานี้เดินทางกลับประเทศ ก็สามารถก่อเหตุรุนแรงได้ไม่ยาก เพราะเรียนรู้ของจริงในสนามรบมาแล้ว
ความน่ากลัวของ โฮมโกรว์น และ โลนวูล์ฟ ก็คือ คนพวกนี้ยอมตายไปพร้อมกับเหยื่อด้วย การป้องกันจึงยากมาก โดยเฉพาะหากปฏิบัติการคนเดียว (โลนวูล์ฟ) การป้องกันจะยากขึ้นไปอีก เพราะคิดเอง ทำเอง แทบไม่ได้สื่อสารกับใคร
แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองของทหาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกโฮมโกรว์นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนเชื้อชาติเดียวกับคนในประเทศที่ตนเองโจมตี อาจจะต่างเชื้อชาติกันก็ได้ แต่ไปอาศัยอยู่ในประเทศนั้นนานๆ ในฐานะผู้อพยพ หรือเป็นพลเมืองของชาติอาณานิคมที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศจ้าวอาณานิคม
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า กรณี โฮมโกรว์น ในฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งเกิดจากฝรั่งเศสมีผู้อพยพมุสลิมจำนวนมากตั้งแต่ในอดีต เพราะฝรั่งเศสเป็นจ้าวอาณานิคมในตะวันออกกลางและอัฟริกา มีการนำคนมุสลิมไปเป็นแรงงานมานานแล้ว เมื่อคนในเจนเนอเรชั่นหลังๆ ที่เป็นมุสลิมเชื้อสายตะวันออกกลางหรืออัฟริกันเติบโตขึ้นมา และพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เสรีภาพอย่างเต็มที่ สภาพเศรษฐกิจสังคมก็ไม่ดี ก็เป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุรุนแรงขึ้นมาได้
ส่วนปรากฏการณ์ไอเอส ก็เหมือนกับสงครามในอัฟกานิสถานก่อนเขาสู่ยุคสงครามเย็น โดยคนที่ร่วมรบในอัฟกานิสถานเดินทางมาจากประเทศต่างๆ เมื่อพวกเขากลับไป ก็ไปต่อต้านรัฐบาลหรือก่อเหตุรุนแรงในประเทศของตัวเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับซีเรียในปัจจุบัน มีคนต่างชาติไปร่วมรบกับไอเอส คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ก็ถือว่ามีอันตราย และมีแนวโน้มก่อเหตุใช้ความรุนแรงในประเทศของตนเพื่อต่อต้านรัฐบาลหรือนโยบายรัฐบาลของตน
ภัยร้ายที่ยากจะป้องกัน
ในภาพรวม ฝ่ายความมั่นคงเรียกภัยคุกคามจากการก่อการร้ายประเภทนี้ว่า Unknown Threat เพราะระบบข่าวกรองตรวจไม่พบการวางแผน ไม่รู้ว่าใครคือผู้ที่เตรียมลงมือทำ และไม่รู้เป้าหมายสาธารณะว่าจะทำที่ใด การป้องกันจึงทำได้ยากมาก
"วิวัฒนาการของการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ทำให้แนวคิด โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ (กระทรวงความมั่นคง หรือ โมเดล กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ) ที่เน้นการสกัดกั้นภัยไม่ให้เข้ามาในประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ประสบผล เพราะจริงๆ แล้วป้องกันไม่ได้ เนื่องจากภัยได้แอบเข้ามาอยู่ในประเทศเรียบร้อยแล้ว" แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ
สำหรับประเทศไทย แหล่งข่าวรายเดียวกันบอกว่า แม้จะไม่มีปัญหา โฮมโกรว์น อย่างเด่นชัด แต่การก่อการร้ายลักษณะนี้ ไม่ว่าพื้นที่ไหนหรือประเทศใดในโลกก็เสี่ยงอันตราย เพราะบางคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่เกลียดยุโรป เกลียดจีน หรือเกลียดรัสเซีย อาจก่อเหตุต่อเป้าหมายสาธารณะที่คนชาติที่ตนเองเกลียดเข้ามาปะปนอยู่ จนทำให้คนไทยตายไปด้วยก็ได้ คล้ายๆ กับกรณีระเบิดที่ราชประสงค์ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก
โดยความเสี่ยงเกิดขึ้นได้จาก 2 ลักษณะ คือ 1.รัฐบาลทำเอง จากนโยบายรัฐบาลที่ผิดพลาด เช่น การส่งอุยกูร์กลับประเทศจีน หรือส่งกำลังทหารไปร่วมทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือช่วยจับผู้ก่อการร้ายส่งให้ชาติอื่น
กับ 2.เกิดจากผู้ก่อการร้ายเข้ามากระทำต่อผลประโยชน์ของชาติเป้าหมายในประเทศไทย เช่น ไอเอสอาจโจมตีสถานทูต ธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวตะวันตกในประเทศไทย
"สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ แม้ปัจจัยของไทยเองที่มีต่อกลุ่มก่อการร้ายยังไม่ถึงขนาดตกเป็นเป้าหมายโดยตรง แต่โอกาสที่ผลประโยชน์ของชาติตะวันตก จีน รัสเซีย ในบ้านเราจะตกเป็นเป้าโจมตีก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดหรือความหละหลวมของมาตรการรักษาความปลอดภัย และจำนวนผลประโยชน์ รวมทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวของชาติเหล่านั้นในประเทศไทย" แหล่งข่าวระบุ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : องค์ความรู้เกี่ยวกับ โฮมโกรว์น เทอร์เรอริสต์ ในต่างประเทศ
ขอบคุณ : อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เอื้อเฟื้อภาพ