ไอเอสในไทย..ไม่หรือใช่?
หลังเกิดปฏิบัติการโจมตี 6 จุดกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ออกมาอ้างผลงานว่าเป็นฝีมือของตน ทำให้ปัญหาการก่อการร้ายในประเทศไทยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง
ประเด็นที่กลายเป็นหัวข้อสนทนาและวิพากษ์วิจารณ์มีหลายประเด็น เช่น บ้านเรามีมาตรการพร้อมรับมือการก่อการร้ายหรือยัง โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอะไรไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง เพราะเหตุโจมตีที่ปารีส แม้ไมได้เกี่ยวข้องอะไรกับไทย แต่ก็น่าสะพรึงว่า ขนาดฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ยังป้องกันการก่อการร้ายขนาดใหญ่ไม่ได้ แล้วไทยจะเหลือหรือ
ประเด็นนี้แทบไม่ต้องถกเถียงหาคำตอบอะไรกันมาก เพราะเป็นที่รู้ๆ กันว่าประเทศไทยมีความพร้อมค่อนข้างต่ำ เพียงแต่โชคยังดีที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใครชัดเจน
อีกประเด็นที่มีการพูดคุยซักถามกัน ก็คือ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะบานปลายกลายเป็นการก่อการร้าย หรือเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายสากลหรือไม่
ประเด็นนี้ก็มีเสียงยืนยันจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคงและแวดวงวิชาการค่อนข้างชัดว่า ยังไม่มีความเชื่อมโยง
แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่คำตอบยังไม่ชัด และเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ก็คือ มีเครือข่ายไอเอสในประเทศไทยหรือไม่ และไทยมีความเสี่ยงระดับไหนที่กลุ่มก่อการร้ายสากลอย่างไอเอส จะเปิดปฏิบัติการโจมตี
ไอเอส กับ ไทย...คนในหรือทางผ่าน
ห้วงเวลาที่กำลังฝุ่นตลบ ปรากฏข่าวในเว็บไซต์ เดอะ สเตรทไทม์ ของสิงคโปร์ รายงานว่ากลุ่มนักรบที่เลื่อมใสแนวทางของไอเอสในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กำลังจัดตั้งสาขา (faction) ของไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้พื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เป็นฐาน
แม้ตามรายงานข่าวไม่ได้เอ่ยถึงประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมว่า ปรมาจารย์ด้านโลกมุสลิมอย่าง ดร.จรัญ มะลูลีม เคยให้ข้อมูลว่ามีสมาชิกไอเอส 1 คนในปัตตานี ทว่าข้อมูลนี้ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงอย่างแข็งขัน ทั้งๆ ที่เจตนาของ ดร.จรัญ เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่าประเด็นไอเอส ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวไทยอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาทั้งของไทยและอาเซียน
อย่างไรก็ดี มีรายงานลับของหน่วยข่าวความมั่นคงบางหน่วย ระบุชัดว่า แม้ประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยงต่อการโจมตีของกลุ่มไอเอส หรือเครือข่ายก่อการร้ายสากลโดยตรง แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ใช้ไทยเป็นทางผ่าน พบความเคลื่อนไหวเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละครั้ง ส่วนใหญ่เป็นนักรบจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เดินทางไปร่วมรบในอิรักและซีเรีย กับนักรบที่เสร็จจากภารกิจร่วมรบแล้ว กำลังเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
สาเหตุที่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน เพราะเข้า-ออกง่าย โดยเฉพาะการเป็นผู้โดยสารผ่าน หรือ transit และหากเดินทางตรงเข้าประเทศตัวเองเลยจะถูกจับตาเป็นพิเศษ
ส่วนข้อมูลคนไทยเป็นสมาชิกไอเอสนั้น รายงานจากหน่วยงานเดียวกัน ระบุว่า เป็นความจริง แต่มีเพียงคนเดียว และเดินทางไปร่วมรบในตะวันออกกลางนานกว่า 1 ปีมาแล้ว
“ภัยจากไอเอสใกล้ตัวเราที่สุด เพราะคนจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีเยอะมากที่ไปร่วมรบกับไอเอสในตะวันออกกลาง คนพวกนี้ส่วนหนึ่งเดินทางผ่านไทย” แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยข่าวความมั่นคง ระบุ
ไอเอสไม่สนเอเชียอาคเนย์
แน่นอนว่าข้อมูลจากหน่วยข่าวความมั่นคงที่กล่าวมานั้น เป็น “ข้อมูลปิด” เพราะในทางเปิด ผู้รับผิดชอบต้องปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงอยู่แล้ว
ดังเช่นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน
พล.อ.ทวีป ยืนยันว่า กลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีกลุ่มหลักเพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ อัลกออิดะห์ อาบูไซยาฟ และเจมาห์ อิสลามิยะห์ หรือเจไอ ปัจจุบันทั้ง 3 กลุ่มได้รับการสนับสนุนน้อยลง หรือมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกน้อยลง ทำให้กลุ่มเหล่านี้พยายามแสวงหาสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้มีผู้เข้าร่วมเป็นพรรคพวกมากขึ้น โดยวิธีการหนึ่งที่กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ ก็คืออ้างอิงถึงกลุ่มไอเอส เนื่องจากไอเอสมีบทบาทมากในตอนนี้
นัยแห่งคำอธิบายของ พล.อ.ทวีป น่าจะสะท้อนถึงข่าวในเว็บไซต์สเตรทไทม์ ที่อ้างถึงในตอนต้นด้วย
“จากการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ายังมีความคิดที่แตกแยกกันอยู่ ว่าจะสมัครเป็นสาขาหนึ่งของไอเอส หรือว่าจะยังคงกลุ่มเดิม ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องรอดูว่ากลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสวามิภักดิ์กับกลุ่มไอเอสได้มากน้อยแค่ไหน เพราะส่วนตัวคิดว่ากลุ่มไอเอสไม่ได้ให้การสนับสนุนอะไรกับกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก ดูจากชื่อไอเอส หรือ ไอซิส (ISIS) ก็ย่อมาจากอิรักกับซีเรีย ก็บอกชัดอยู่แล้ว” เลขาธิการ สมช.ระบุ พร้อมย้ำว่าไม่มีกลุ่มก่อการร้ายใดเคลื่อนไหวในประเทศไทย ทราบเพียงว่า มีการเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ประเทศเท่านั้น
2 บริบทของกลุ่มหัวรุนแรง
มีบุคคลในฝั่งรัฐบาลที่อธิบายเชิงลึกมากขึ้น เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของไอเอสในภูมิภาคนี้ คือ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่แจกแจงว่า กลุ่มหัวรุนแรงที่เลื่อมใสในอุดมการณ์ของกลุ่มรัฐอิสลาม มี 2 ส่วน คือ
1.กลุ่มที่เชื่อว่าเดินทางไปร่วมรบกับไอเอสในตะวันออกกลาง และเดินทางกลับมาแล้ว บางส่วนถูกจับกุม และได้รับการปล่อยตัวออกมา เพราะไม่มีหลักฐานว่าไปกระทำผิดกฎหมาย กลุ่มนี้รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านมีรายชื่อและติดตามความเคลื่อนไหวอยู่อย่างใกล้ชิด
2.กลุ่มที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมรบ แต่มีความเลื่อมใสแนวทางของไอเอส และใช้พื้นที่ส่วนตัวในโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ความคิดความเชื่อ กลุ่มหลังนี้ติดตามยาก เพราะใช้พื้นที่ส่วนตัวในการสื่อสาร
ดร.ปณิธาน ยืนยันว่า ทั้งสองกลุ่มยังไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทย แต่ทางการไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยประสานข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้าน
ชายแดนใต้กับไอเอส
ย้อนกลับมาที่ความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงระหว่างไอเอส กับกลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.ปณิธาน บอกว่า ฝ่ายความมั่นคงตรวจพบบ้างเหมือนกันว่ามีการติดต่อประสานงานกันอยู่ แต่เป็นเรื่องของการระดมเงินบริจาคเป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวกับการวางแผนก่อเหตุรุนแรง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังในระยะยาวต่อไป
“เป็นเรื่องของบางคนที่อยากมีรายได้ ยังไม่มีอะไรมากกว่านั้น” ดร.ปณิธาน ระบุ
พลังโซเชียลย้อนกลับ
ดร.ปณิธาน ยังเสนอไอเดียน่าสนใจเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งไอเอส โดยบอกว่า ไอเอสใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่แนวคิด ความเชื่อ ฉะนั้นถ้าสื่อสังคมออนไลน์ช่วยกันแสดงพลังต่อต้านกลับ ติดตามตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเรื่องการก่อการร้าย แจ้งเตือนซึ่งกันและกัน ก็จะสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายได้ โดยใช้โซเชียลมีเดียแบบเดียวกัน
เขายังย้ำว่า การป้องกันการก่อการร้าย ไม่สามารถใช้กลไกของรัฐแต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะไทยซึ่งมีงบประมาณน้อย บุคลากรก็น้อย เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ทันสมัยมากนัก การจะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ส่วนตัวก็ถูกต่อต้าน แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นกลับตั้งคำถามว่าทำไมกลไกรัฐไม่รู้ก่อน ไม่ป้องกันให้ได้ก่อน ซึ่งจากข้อจำกัดทั้งหมดนี้น่าจะพอมองออกว่าไทยไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้
ฉะนั้นการป้องกันการก่อการร้ายต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ทั้งช่วยกันสอดส่องดูแล แจ้งเตือน และแบ่งปันข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นในโลกจริงและโลกไซเบอร์
ข้อเสนอของ ดร.ปณิธาน สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยข่าวความมั่นคง ที่บอกว่า มาตรการระวังป้องกันของไทยยังหละหลวมมาก แม้จะมีการสรุปบทเรียนหลังเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไข เช่น เรื่องการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด, การตรวจสอบที่พักคนต่างชาติ ขณะที่จิตสำนึกของประชาชนในการร่วมเฝ้าระวังป้องกันเหตุร้ายที่ยังต่ำมาก เพราะมองว่าธุระไม่ใช่ หรือให้ความสำคัญกับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยมากกว่าความปลอดภัยของประเทศ
อ่านถึงบรรทัดนี้คงพอสรุปได้แล้วว่าไทยมีความเสี่ยงตกเป็นเป้าก่อการร้ายมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นไอเอสหรือกลุ่มอื่นก็ตาม...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หน้าเว็บไซต์ของ เดอะ สเตรทไทม์ ที่รายงานข่าวการสถาปนาสาขาของไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้