“หาดสองแคว” ต้นแบบ อบต.ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน 7 หมู่บ้าน 3 วัฒนธรรม
ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาชู “หาดสองแคว” ต้นแบบ อบต.ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน 7 หมู่บ้าน 3 วัฒนธรรม รูปธรรมความสำเร็จของสภาเด็กและเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะองค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย จ.สกลนคร ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านเด็กและเยาวชนที่องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ภายใต้โครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน จากการการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.
นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึง อบต.หาดสองแคว มี 7 หมู่บ้าน 3 วัฒนธรรม ลาวเวียง ลาวอีสาน ลาวสุโขทัย การทำงานด้านเด็กและเยาวชนจะประสบความสำเร็จได้ เพราะเราถามเด็กว่า “มีความคิดที่จะพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง” คำถามเดียวแต่ได้คำตอบในการนำมาปฏิบัติ เพื่อให้ตรงใจเด็กและเยาวชนมากมาย ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องสร้างตัวให้กลมกลืนกับเด็กทุกสถานการณ์ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิคุยกับแม่สื่อถึงลูก ต้องรู้จักเด็กในตำบลครบทุกคน ด้วยความใส่ใจ เมื่อเด็กเติบโตตามวัยเข้าสู่วัยเรียน
"อบต.นำภาษีที่ดินไร่ละ 5 บาท มาเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาส ยากไร้ ดังนั้น เด็กและเยาวชนต้องสำนึกบุญคุณแผ่นดินเกิดของตนเอง อีกทั้ง ต้องให้เด็กและเยาวชนคิดทำโครงการพี่สอนน้อง เพื่อให้คนรับทุนไปแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ฉะนั้น ความยั่งยืนเกิดจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้ง อบต.หรือพื้นที่ใดก็ตาม หากจับประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนจัดความสำคัญไว้ลำดับต้นในการพัฒนาให้กลมกลืนกับงานของตำบล โดยชี้ประเด็นว่าสิ่งที่ทำกับเด็กและเยาวชนได้อะไร พร้อมทั้งใส่เรื่องสำนึกรักบ้านเกิดก็จะเป็นพลังของสังคม ทำให้หาดสองแควอยู่ได้ด้วยตนเอง"
นายพงษ์เทพ กล่าวถึงบริบทของเด็กและเยาวชน อบต.หาดสองแคว มองตั้งแต่เริ่มต้นว่าเกิดอะไรขึ้นในชุมชนของเรา อย่าหนีความจริงที่เกิดขึ้น ต้องแก้ปัญหาในหมู่บ้านให้จบ ขณะนี้ สิ่งที่กำลังหายไปคือความเป็นพลเมืองของตำบล คนรักท้องถิ่นมีไม่ถึง 100% ดังนั้น ต้องช่วยกันสร้างคน เปลี่ยนแนวความคิด อย่าหวังผลตามวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด 100% เป็นไปไม่ได้ การทำงานให้เชื่อมทุกมิติเป็นเนื้องานเดียวกัน เพราะหากทำมิติเด็กและเยาวชนด้านเดียว มิติอื่นก็จะเป็นปัญหา ดังนั้น ต้องทำงานให้เชื่อมกันทั้งหมดทุกเรื่อง
"นอกจากนี้ พยายามสร้างคนให้เรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่กับงานพื้นฐานของชุมชนให้ได้ เด็กหาดสองแควต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความแข็งแรง เมื่อเกิดสิ่งที่เป็นปัญหาระดับชาติ เช่น ยาเสพติด รู้ใครคิด ใครค้า ใครเสพ การแก้ไขต้องกั้นกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้เสพ กั้นกลุ่มเสพไม่ให้ค้า ฉะนั้น การสร้างคนสำคัญ และไม่ได้มองแค่ในหมู่บ้าน ตำบล แต่ต้องเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป” นายพงษ์เทพ กล่าว
“น้องต่อ” นายภมร สงเย็น ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนหาดสองแคว กล่าวว่า การทำงานด้านเด็กและเยาวชน การแก้ไขปัญหา เมื่อใช้คำว่าปัญหา แต่ปัญหายังไม่เกิด เราจึงใช้คำว่า “ป้องกันปัญหา” เด็กแว้น ก็มีทุกพื้นที่ หาดสองแควก็มีแต่ไม่เป็นข่าว เพราะเชื่อว่าเราสามารถแก้ไขได้ในพื้นที่ของเราเอง โดยใช้หลัก “เอาส่วนดี ลบ ส่วนด้อย” จัดงานที่ถนัดให้เด็กทำ แต่ไม่ให้เดือดร้อนกับสังคม และโดยพื้นฐานนายก อบต.หาดสองแควทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว โดยเปิดโอกาสให้สภาเด็กฯ เป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาได้
“ตัดหาง ปล่อยวัด” ไม่ควรใช้กับเด็ก เพราะทำให้เด็กน้อยลง ต้องใช้แนวทางของพระพุทธเจ้า คือบัว 4 เหล่า หากเราดึงเด็กเหล่านี้ให้พ้นจากน้ำได้ ก็จะเป็นการช่วยชุมชนได้แล้ว การดำเนินงานที่ผ่านมาของ อบต.หาดสองแคว สิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน คือ 1.ความเข้มแข็งในชุมชน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ 2.ความสามัคคี 3.ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไข ตรงจุด เพราะปัญหาเกิดจากเด็ก ปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้ใหญ่คิด และ 4.สำนึกรักบ้านเกิด ที่ทำให้ทุกคนหวงแหนไม่ทิ้งบ้านของตนเองไปไหน” น้องต่อ กล่าว
นายบุญเตรียม งอยผาลา นายก อบต.เต่างอย จ.สกลนคร กล่าวว่า อบต.เต่างอย มีการตั้งกลุ่มเด็กเยาวชน ตั้งแต่ปี 2544 แต่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยคลอด เพราะจับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะเป็นตัวหลักไม่ได้ ความคิดอ่านไม่ต่อเนื่อง การไม่รู้ปัญหาความต้องการของเด็ก เนื่องจากผู้หญ่ไปใส่ให้เขา ฉะนั้น ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ
“เรายังไม่รู้ว่าเราจะไปนับหนึ่งที่ไหน แต่ถ้ายังนับหนึ่งไม่ได้ก็ไปไม่ได้ โดยจะกลับไปค้นหาเด็ก ค้นหาของดีในตำบล ทั้งอาหาร พืช แมลง หนองน้ำ และทำแผนที่เดินดิน ชอบที่นายกพูด 1 คนคือ 100 เรามัวแต่ไปคิด 100 คน คือ 100% เราปรับวิธีคิดใหม่ อย่าเอาคน 100 คน มาตั้ง แต่การเอาคน 1 คน ให้เลิกเหล้า ยาเสพติดได้ เราก็ได้ 100% ที่คนๆ นั้นแล้ว แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ช้า แต่ไม่ลุกขึ้นมาก็คงไม่ได้ ” นายบุญเตรียม กล่าว
ด้านศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วันนี้ได้เรียนรู้จากชีวิตจริงทำให้คิดถึงเรื่องปรัชญาการสร้างคน ฉะนั้น ต้องกลับไปทำงานที่ยากขึ้น อย่างที่ นายก อบต.หาดสองแควได้วางนโยบายต่อท่อลงสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมาหลายคนจะพูดถึงการกระจายอำนาจ ซึ่งฟังยากทำยาก แต่ อบต.หาดสองแควทำเรื่องชีวิตเรียบง่ายธรรมดา ให้เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาได้ ด้วยการทำสิ่งที่ดีที่สุดในชุมชน 1 คน คือ 100% หมายความว่า การแก้ปัญหาให้กับคน 1 คนได้ก็เท่ากับเราประสบความสำเร็จ 100% แล้ว หรือใหญ่ขึ้นไปอีก 1 ชุมชน 100 % เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด ท้องแท้งทิ้ง ส่วนใหญ่ก็แก้กันที่ปลายเหตุ กระบวนการในชุมชน กระบวนการการแก้ปัญหาในพื้นที่ไม่มี มีแต่ระบบใช้งบประมาณฟาดลงไป ฉะนั้น ต้องจัดการปัญหาให้แนบเนียนยืดหยุ่นตรงกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นการให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งการปฏิบัติการแก้ไข โดยจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนข้างบน เพื่อจะได้เห็นสังคมและประเทศไทยดีขึ้น