เปิดหนังสือภาพ-เล่านิทานสร้างจินตนาการสู่เด็กปฐมวัย
“หนังสือภาพเป็นเครื่องมือที่ง่าย ในการสร้างพัฒนาการที่ดีทั้งด้านความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคม อีกทั้งยังเป็นการเสริมให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ”
“การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เขามีอายุ 6 เดือน จะช่วยสร้างให้เขาเติบโตกลายเป็นนักอ่าน เขาจะจำจนโต แต่หากเด็กอายุเลย 6 ขวบไปแล้ว จะบังคับยังไงก็จะไม่ใช่นักอ่านแล้ว” นี่คือคำยืนยันจาก จรัล หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เอ่ยขึ้นในงานเปิดตัวหนังสือภาพชุดใหม่ กับโครงการ “นำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 8” ของมูลนิธิเอสซีจี ณ ลานดิเอเทรียม ชั้น G อาคารสินธร ถนนวิทยุ กทม.
จรัล สะท้อนปัญหาคุณภาพของหนังสือเด็กในไทย ว่า ตลาดหนังสือเด็กในประเทศไทยค่อนข้างเล็ก ผู้ใหญ่หลายคนไม่เข้าใจว่าหนังสือเด็กมีความสำคัญอย่างไร หากลองดูก็จะเห็นชัดเจนเลยว่าบ้านเราไม่มีร้านขายหนังสือเด็ก จะมีก็เพียงมุมหนังสือเด็กเล็กๆที่อยู่ในร้านหนังสือใหญ่ ๆ เท่านั้น
“รู้ไหมประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนเขาลงทุนกับเรื่องพวกนี้ขนาดไหน รัฐบาลจีนลงทุนให้ร้านหนังสือทุกร้าน ทุกคนที่ผลิตหนังสือเกี่ยวกับเด็กมาเปิดบูธขายหนังสือฟรี เขาลงทุนหาตลาดให้กับคนทำหนังสือ ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่เคยลงทุนอะไรเกี่ยวกับเด็กเลย อย่าว่าแต่เรื่องหนังสือ เรื่องอื่นๆก็ไม่ลงทุน”
จรัล บอกอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นตัวผู้ปกครองเองก็รู้สึกว่าหนังสือเหล่านี้มีราคาแพง มองเห็นเล่มเนื้อหาและภาพก็มีมายาคติว่าหนังสือเกี่ยวกับเด็กเล่มละ 200-300 บาท เป็นสิ่งที่แพงและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว หากเทียบกับการรับประทานอาหารในร้านหรู ๆ แล้ว หนังสือเหล่านี้ยังจะมีราคาถูกกว่าด้วยซ้ำ
ขณะที่จี๊ด สุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก บอกว่า การใช้หนังสือภาพเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่อายุ 6 เดือน เมื่อเด็กโตขึ้นศักยภาพของเด็กในด้านต่าง ๆ จะดีมาก ค่อนข้างเป็นเด็กที่มีสมาธิ ซึ่งก็มีผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่าการเริ่มต้นอ่านนิทานให้เด็กฟังตั้งแต่ 6 เดือนช่วงสร้างให้เด็กเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ฉะนั้นหนังสือเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก เด็กในวัยนี้ควรได้รับทั้งอาหารกายและอาหารใจอย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มีความเห็นสอดคล้องกับ จรัล หอมเทียน ในเรื่องตลาดและสัดส่วนของหนังสือเด็กในประเทศไทยที่มีน้อยเกินไป แม้กระทั่งในห้องสมุดหนังสือเหล่านี้ก็ยังมีค่อนข้างน้อยซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ได้ใส่ใจกับอาหารสมองของเด็กในช่วงปฐมวัย
“ที่ผ่านมาในการทำงานทางมูลนิธิพยายามที่จะคัดเลือกหนังสือเด็กที่มีคุณภาพ และเป็นหนังสือใหม่ ให้เหมาะกับอายุแต่ละช่วงวัยของเด็กปฐมวัย แต่การจะหาหนังสือใหม่ ๆ แต่ละครั้ง ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา เนื่องจากหากต้องการหนังสือเด็กที่มีคุณภาพค่อนข้างต้องใช้เวลานาน เนื่องจากในการผลิตต้องคำนึงถึง ระยะสายตาการมองเห็น สีและภาพต้องถูกต้อง สาเหตุที่ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากเด็กจะจดจำ หากเราผลิตหรือคัดเลือกหนังสือที่มีภาพสีไม่เหมาะสมเด็กก็จะจดจำในสิ่งที่ผิด”
ด้านเจ้าของโครงการอย่าง ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี บอกว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี ได้พยายามรณรงค์ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือภาพ และเล่านิทาน อ่านหนังสือภาพ ให้เด็กวัยแรกเกิด – 6 ปี ฟังเป็นประจำ เนื่องจากช่วงวัยนี้มีความสามารถในด้านต่าง ๆ และมีการพัฒนามากที่สุด
“หนังสือภาพเป็นเครื่องมือที่ง่าย ในการสร้างพัฒนาการที่ดีทั้งด้านความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคม อีกทั้งยังเป็นการเสริมให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ”
นอกเหนือจากการสนับสนุนหนังสือภาพสำหรับเด็กปกติแล้ว ทางมูลนิธิเอสซีจี ยังขยายโอกาสให้เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นได้สัมผัสความสุนทรีย์ เรียนรู้หนังสือภาพชั้นดีเท่าเทียมกับเด็กปกติ โดยจัดทำหนังสือภาพนูนอักษรเบรลล์สำหรับเด็กปฐมวัยที่บกพร่องทางการมองเห็น มอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดและศูนย์ศึกษาพิเศษทั่วประเทศ โดยทดลองทำปกหนังสือด้วยเทคนิคพิเศษแบบประเทศญี่ปุ่นด้วยการพิมพ์ระบบดิจิตัล Spot UV.25 ชั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเอาเทคนิคนี้มาใช้กับการทำหนังสือภาพเด็ก
สำหรับหนังสือภาพที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือภาพนูนอักษรเบรลล์ คือ เรื่อง “เอ๊ะ... ต้นอะไรนะ” ซึ่งเป็นผลงานของนักแต่ง-เล่านิทาน ธนะชัย สุนทรเวช โดยธนะชัยให้เหตุผลว่า การนำนิทานที่เราแต่งมาผลิตในรูปแบบหนังสือภาพอักษรเบรลล์นั้นถือเป็นการช่วยให้เด็ก ๆ ที่บกพร่องทางการมองเห็นได้สนุกสนาน และได้รับประสบการณ์ทางสุนทรียะกับหนังสือเช่นเดียวกับเด็กปกติ ซึ่งในเล่มนี้เขาเน้นไปที่เรื่องการปลูกฝังเรื่องการปลูกต้นไม้จึงมอบความพิเศษด้วยการมอบเมล็ดพันธุ์ซองละ 1 เล่ม โดยไม่บอกว่าเป็นเมล็ดพันธุ์อะไรให้น้อง ๆ ได้ลองปลูก ฝึกสังเกต และจดบันทึกว่าตัวเองจะได้ปลูกต้นอะไร ซึ่งจะทำให้น้องๆเกิดความสุขจากสิ่งที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง
นอกเหนือจากนิทานเรื่อง เอ๊ะ...ต้นอะไรนะ แล้ว ยังมีหนังสือในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 8 อีกจำนวน 4 เรื่องได้แก่ สัวต์ไม่ควรใส่เสื้อผ้าอย่างเด็ดขาด คุณตานักเล่านิทาน อันโนนักเดินทาง และ ห้าพี่น้องกับของเล่นใหม่ ซึ่งอาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ อาจารย์วรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในกองบรรณาธิการ เชื่อว่า หนังสือชุดนี้จะสร้างความรื่นรมย์ และความประทับใจในการอ่านให้กับเด็ก ๆ ส่วนผู้ที่สนใจสามารถร่วมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ก็สามารถหาซื้อหนังสือดังกล่าวได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสามารถร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนนำหนังสือดีสู่เด็กไทย โดยมูลนิธิจะนำรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้อหนังสือภาพเพื่อมอบให้เด็กที่ขาดแคลนทั่วประเทศ