จากปารีสถึงกรุงเทพฯ...ความเสี่ยงก่อการร้ายที่ไทยยังละเลย
เหตุโจมตี 6 จุดกลางมหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทั้งลอบวางระเบิดและกราดยิง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถูกมองจากคนทำงานด้านความมั่นคงในประเทศไทยในหลากหลายแง่มุม
อดีตผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานด้านข่าว ระบุว่า เหตุโจมตีกลางกรุงปารีสมีลักษณะเป็นภัยคุกคามที่เรียกว่า unknown threat คือระบบข่าวกรองตรวจไม่พบการวางแผน จึงเป็นภัยคุกคามที่ยากต่อการป้องกัน
"ภัยคุกคามแบบนี้ ไม่สามารถวางแหล่งข่าวในกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะไม่รู้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย การประสานงานกับหน่วยข่าวกรองต่างประเทศก็จะมีปัญหาคล้ายๆ กัน เพราะแต่ละประเทศก็จะเน้นหนักเฉพาะเป้าหมายที่เป็นภัยของตนเอง ไม่มีใครมาช่วยดูเป้าหมายที่เป็นภัยของประเทศอื่นมากนัก ฉะนั้นจึงต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก"
แหล่งข่าวคนเดียวกันยังบอกว่า ฝรั่งเศสมีหน่วยข่าวกรองที่มีศักยภาพสูงมาก และมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการข่าวจำนวนมาก มีสายลับกระจายอยู่ในหลายประเทศ และมีเครื่องมือพิเศษที่ทันสมัย รวมทั้งกฎหมายพิเศษต่างๆ แต่ยังป้องกันเหตุการณ์ก่อการร้ายขนาดใหญ่ไม่ได้ นี่คืออุทาหรณ์ให้ประเทศไทยต้องคิดปฏิรูปมาตรการรักษาความปลอดภัยของชาติใหม่ทั้งระบบ
"ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดความจริงว่าเราต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยเยอะมาก และประชาชนจำเป็นต้องยินยอมให้หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจพิเศษบางประการ เพราะภัยคุกคามที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายมาก ทุกประเทศมีโอกาสตกเป็นเป้าหมาย"
2 มิติไทยเสี่ยงก่อการร้าย
สำหรับประเทศไทย อดีตผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคง บอกว่า หนีไม่พ้นความเสี่ยงเช่นกัน โดยความเสี่ยงที่ว่านี้มีอย่างน้อย 2 รูปแบบ คือ 1.เกิดจากนโยบายของรัฐบาลเอง เช่น ส่งกำลังทหารไปร่วมทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย หรือช่วยจับ ผู้ก่อการร้ายส่งให้ชาติอื่น. กับ 2.เกิดจากผู้ก่อการร้ายเข้ามากระทำต่อผลประโยชน์ของชาติเป้าหมายในประเทศไทย เช่น ไอเอส อาจโจมตีสถานทูต หรือแหล่งธุรกิจ หรือแหล่งรวมของนักท่องเที่ยวตะวันตกในประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสี่ยงใน 2 มิติของไทยดังกล่าว บางกรณีก็อาจเชื่อมโยงกันด้วย เช่น ไทยอาจดำเนินนโยบายบางเรื่องผิด ก็จะกลายเป็นเป้าโจมตีพลเมืองของประเทศที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้นในประเทศไทย
"ในแง่ปัญหาของตัวเราเองที่มีกับกลุ่มก่อการร้าย เรายังไม่ถึงขั้นตกเป็นเป้าโจมตีโดยตรง แต่โอกาสที่ผลประโยชน์ของชาติตะวันตก จีน หรือแม้แต่รัสเซียในบ้านเรามีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมาย ในแง่นี้มีสูงกว่า ขึ้นอยู่กับความเข้มหรือความหละหลวมของมาตรการ รปภ. และจำนวนผลประโยชน์ โดยเฉพาะปริมาณนักท่องเที่ยวของชาติเหล่านั้นในบ้านเรา"
ไฟใต้ยังไม่ขยายวง
ส่วนความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีนั้น อดีตผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคง บอกว่า ยังไม่มีความเสี่ยงในแง่นี้มาก เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน จึงไม่ต้องการให้กลุ่มถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล
ขณะที่ปฏิบัติการของไอเอส หรือกลุ่มรัฐอิสลามนั้น ก้าวข้ามและแตกต่างการก่อการร้ายโดยมูลเหตุจูงใจทางศาสนาค่อนข้างมาก ฉะนั้นจึงแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้ตอนล่างของไทย
ห่วงไทยหวังเงินท่องเที่ยวมากเกิน
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่อยากด่วนสรุปว่าเหตุโจมตีอย่างน้อย 6 จุดกลางกรุงปารีสเป็นการกระทำของกลุ่มใด เพราะต้องรอความชัดเจนก่อน แต่ต้องยอมรับว่าฝรั่งเศสมีแผนการรับมือเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งประเทศภาวะฉุกเฉิน และปิดพรมแดนอย่างรวดเร็ว
ส่วนในแง่ของการวางมาตรการป้องกัน นายนันทิวัฒน์ กล่าวว่า การก่อการร้ายสมัยใหม่ป้องกันยาก แต่ก็มีวิธีที่จะดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องเข้มงวด รัดกุมกับเรื่องคนเข้าเมือง อย่างประเทศไทยสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเปิดประเทศเพื่อหวังเงินจากการท่องเที่ยวมากเกินไป
มองต่างมุมฝรั่งเศส "หละหลวม"
แม้หลายเสียงจะชื่นชมรัฐบาลฝรั่งเศสที่ตั้งรับกับเหตุการณ์ก่อการร้ายกลางกรุงปารีสได้อย่างทันท่วงที และคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งกำลังเข้าพื้นที่ และปิดพรมแดน แต่ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตนายทหารประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กลับมองต่างมุมในเรื่องนี้ โดยเขาเห็นว่าสมควรตำหนิรัฐบาลฝรั่งเศส
"ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในสามประเทศหลักที่เสี่ยงโดนโจมตี พอๆ กับอังกฤษ และอเมริกา เพราะมีบทบาทสูงในการต่อต้านไอเอส แม้ไม่ส่งกองกำลังไปร่วม แต่ก็แสดงท่าที่สนับสนุนชัดเจน และมีปฏิกิริยากับคนมุสลิมพอสมควร"
"ฉะนั้นรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงของฝรั่งเศสน่าจะประเมินสถานการณ์ได้ก่อน และน่าจะป้องกันได้ดีกว่านี้ แต่จุดอ่อนหนึ่งของฝรั่งเศสคือไปฝากงานความมั่นคงไว้กับกระทวงมหาดไทย ไม่มีหน่วยงานดูแลเป็นการเฉพาะ เหมือนอย่างสหรัฐที่ตั้ง โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ ภายหลังเหตุการณ์ 911 เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบงานความมั่นคงโดยตรง แต่ฝรั่งเศสไม่มี"
ประเมินผู้ก่อเหตุเกิน 20 คน
พล.ท.นันทเดช ย้ำว่า ฝรั่งเศสเป็นเป้าหมายหลัก แต่กลับละเลย จึงถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ที่สำคัญการก่อเหตุครั้งนี้ไม่ใช่แอบทำ แต่ทำกันอย่างเปิดเผยหลายจุด สะท้อนว่ามีการซ่องสุมกำลังและวางแผนมานานพอสมควร จำนวนคนที่ร่วมก่อเหตุน่าจะมากกว่า 20 คน
"ฝรั่งเศสนี่ถือว่าละเลย เหมือนกับไทย แต่ไทยเฉื่อยชาได้ เพราะไม่ใช่เป้าหมายหลักของผู้ก่อการร้าย หากเราหันไปดูอังกฤษ เมื่อเขาโดนโจมตี (เหตุระเบิดรถไฟใต้ดินกลางกรุงลอนดอน เมื่อปี 2548) เขาจัดระบบซีซีทีวีใหม่เลย แต่ฝรั่งเศสไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่เคยเกิดเหตุโจมตีในลักษณะก่อการร้ายบ่อยมาก แสดงว่าละเลยทั้งเรื่องเข้าเมือง และเรื่องอื่นๆ พอเกิดเหตุแล้วเพิ่งสั่งปิดพรมแดน ซึ่งมันช้าไป เน้นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว" พล.ท.นันทเดช กล่าว
บทวิเคราะห์ของ พล.ท.นันทเดช สอดคล้องกับหน่วยงานที่ทำงานด้านก่อการร้ายของกองทัพ ที่ประเมินว่าผู้ก่อเหตุโจมตีกลางกรุงฝรั่งเศสมีราวๆ 30-40 คน เพราะเป็นการก่อเหตุหลายจุดพร้อมกัน ขณะที่กองทัพได้ประสานให้ทูตทหารไทยที่ประจำอยู่ในฝรั่งเศสและยุโรป ติดตามสถานการณ์และรายงานกลับมาอย่างใกล้ชิด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพเชิญชวนให้ร่วมส่งกำลังใจไปให้คนปารีสและประเทศฝรั่งเศส จากเพจเฟซบุ๊คและภาพที่แชร์กันทางโซเชียลมีเดีย