ส่อง 2 ธุรกิจเอสเอ็มอี จ.กระบี่ ก้าวถึงวันนี้ได้เพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ประเทศไทยฝันอยากเห็นเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการจำนวนมาก สร้างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก่อเกิดธุรกิจใหม่ ๆ มากกว่าที่เป็นเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยกระจุกตัวแค่บริษัทใหญ่ ๆ ไม่กี่สิบบริษัท
แต่ปัญหาหนึ่งของเอสเอ็มอีไทย คือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะไม่มีหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน ยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามต่างจังหวัดแทบไม่ต้องเอ่ยถึง
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นำคณะสื่อมวลชนสัญจร เดินทางไปส่องเศรษฐกิจท่องเที่ยว กระบี่ 59 พบปะพูดคุยกับ 2 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น
รายแรกธุรกิจการท่องเที่ยว ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ศรีสวัสดิ์ ทราเวล แอนด์ ทัวร์ (เกาะพีพีทัวร์) มี “โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” นั่งกรรมการผู้จัดการ เขาเริ่มต้นทำธุรกิจจากเงินศูนย์บาท เติบโตมาจากเด็กเสิร์ฟ ขายตั๋ว ทำเกสเฮ้าส์เล็กๆ ปัจจุบันก้าวสู่ธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกระบี่ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 60-70 ล้านบาท
เกาะพีพีทัวร์ ชื่อที่นักท่องเที่ยงรู้จักอย่างกว้างขวาง ก่อนจดทะเบียนหจก. ศรีสวัสดิ์ ทราเวล แอนด์ ทัวร์ นั้น นอกจากบริการให้เช่ารถ รถตู้ รถบัส เรือสปีทโบ๊ท แล้ว ยังมีบริการจัดกรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยวตามงบประมาณที่ต้องการ และเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเดินทาง ทั้งรถ เรือ และเครื่องบิน รวมไปถึงการจองห้องพัก บริการนำเที่ยวทางทะเล
ปัจจุบันธุรกิจของโกจง มีถึง 9 สาขา พนักงานกว่า 200 คน ถัวเฉลี่ยมีลูกค้าไม่ต่ำกว่า 300 คนขึ้นไปทุกวัน
“ทุกเรื่องที่คนทำทัวร์ทำ ผมทำ 100% ธุรกิจผมการันตี รถเสียในรัศมีแถวนี้ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงเปลี่ยนคันใหม่ได้ เรือกลางทะเลไม่เกิน 1 ชั่วโมงไปเอากลับได้หมดผมยอมรับการขาดทุน จนเกิดการบอกต่อ”
โกจง บอกว่า หจก. ศรีสวัสดิ์ ทราเวล แอนด์ ทัวร์ (เกาะพีพีทัวร์) เดินมาถึงจุดนี้ได้ เพราะสถาบันการเงิน “ผมอยากพูดกับแบงก์มากกว่าให้โอกาสคนเก่งเถอะ โอกาสของคนทำธุรกิจมีไม่เท่ากัน โอกาสของมนุษย์ไม่เท่ากัน เก่งแต่ไม่มีโอกาส ก็โตมาถึงวันนี้ไม่ได้ ซึ่งผู้วิเคราะห์สินเชื่อต้องมีความเข้าใจในระบบการตลาด ไม่เข้าใจก็สามารถลงพื้นที่เช็คจากคนรอบข้างได้ เช่น กรณีผม ไม่มีที่ทาง ไม่มีหลักทรัพย์จะไปกู้เงินจากไหน ตรงนี้ทำให้ผมเสียโอกาส หรือจะไปหาดอกเบี้ยนอกระบบก็ดอกเบี้ยแพง ฉะนั้นการมีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือแม้แต่การค้ำประกันสินเชื่อของบสย. เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตได้
“ผมทำธุรกิจท่องเที่ยว มีรถ เรือ เอาที่ดินที่ไหนไปค้ำประกัน จึงรู้การค้ำประกัน ไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ที่เป็นที่ดินก็ได้ ตรงจุดนี้ทำให้เราสามารถนำเงินไปลงทุนเพิ่มได้ มีงบประมาณซ่อมบำรุงรถเรือ ปี 2558 กว่า 10 ล้านบาท”
โกจงมักตอกย้ำกับตัวเองเสมอ “โจทย์ผมมากกว่าทำทัวร์ ผมรู้จริง เพราะผมอยู่กระบี่ทุกวัน”
ด้านนายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสาขาสุราษฎร์ธานี ฝ่ายกิจการสาขา บสย. เล่าว่า บสย.เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้ หจก. ศรีสวัสดิ์ ทราเวล แอนด์ ทัวร์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แค่ช่วงเวลา 2 ปี ธุรกิจท้องถิ่นแห่งนี้ มีกำไร 30 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจศูนย์ซ่อมสีรถยนต์ ดราก้อน ออโต้เพ้นท์ ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ บริหารงานโดย ฐายิกา วลัณธัญธร และกนกนภัส ธำรงเทพพิทักษ์ 2 ผู้ประกอบการหญิงแกร่งที่ไม่เคยจับธุรกิจประเภทนี้มาก่อน ไม่อายที่จะเล่าย้อนไปเมื่อ 2-3 ปี ก่อนว่า เธอสองคนเรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำ
ฐายิกา เล่าว่า เธอเคยทำธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 8 ธุรกิจ สุดท้ายเหลือ 2 ธุรกิจคือ ศูนย์ซ่อมสีรถยนต์ ดราก้อน ออโต้เพ้นท์ และบลูดราก้อน คาบาเร่ย์
แต่เดิมอู่รถยนต์แห่งนี้เป็นธุรกิจที่พี่ชายทำมา แล้วได้หยุดไป ฐายิกา และกนกนภัส ซึ่งเป็นเพื่อนพี่สาว จึงพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาสานต่อ
“ก่อนปี 2554 เราสองคนสมองกลวงเรื่องรถมาก ความรู้เรื่องรถขณะนั้นเท่ากับศูนย์ ดังนั้นช่วงเริ่มต้นอู่ไหนที่ใครว่า ที่เก่งที่สุดในกระบี่ เจ๋งสุดในกระบี่ จะไปขอความรู้ จากนั้นก็ไปเรียนกับบริษัทสี ไปเรียนรู้กับอู่ที่ดีที่สุดในประเทศไทย จนวันนี้ยอมรับ ตกหลุมรักธุรกิจนี้ไปแล้ว”ฐายิกา เล่าด้วยสำเนียงใต้อย่างเสียงดังฟังชัด
ด้วยแนวการดำเนินธุรกิจ ที่ดูแลรถลูกค้าเสมือนรถของตัวเอง คุณภาพงานดีเยี่ยม ซื่อสัตย์ และงานบริการเป็นเลิศ อีกทั้งมีจุดเด่นห้องผสมสี ห้องพ่นสี และใช้เครื่องมือ Acquire II เทคโนโลยีใหม่สำหรับงานซ่อมสี ซึ่งมีราคาสูง ทำให้สามารถค้นสูตรสีได้อย่างแม่นยำได้สีเดิมที่ใกล้เคียงกับสีเดิมของรถมากที่สุด
“กนกนภัส” ชี้ว่า การมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์ซ่อมสีรถยนต์ระดับคุณภาพให้ได้ จากอดีตที่บริษัทประกันไม่ยอมรับอู่ดราก้อน ออโต้เพ้นท์ เป็นอู่ในเครือ แต่เมื่อคุณภาพงานเป็นที่ยอมรับ และมีการบอกต่อปากต่อปาก จนกระทั่งอู่แห่งนี้ได้เป็นอู่ในเครือวิริยะ ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงมาก
เธอชี้ไปที่บอร์ด โลโก้มีบริษัทประกันในจังหวัดกระบี่ไม่ต่ำกว่า 15 ราย เป็นคู่ค้า
“เราไม่มีปัญหาเรื่องช่าง และจะไม่มีระบบการเหมางาน ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ เมื่อมีปัญหากลับไปแก้ไขได้หมด จำได้ว่าเดือนมีนาคม 2555 มีรถเข้าซ่อมเพียง 10 คัน ปัจจุบันมีลูกค้าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 120 คัน”
ในอนาคตศูนย์ซ่อมสีรถยนต์ขนาดกลางๆ แห่งนี้ รายได้ต่อปีเกือบ 20 ล้านบาท มีแผนขยายธุรกิจรองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น การที่ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้บางส่วน เธอยืนยันว่า สามารถปลดล็อกให้ธุรกิจเล็กๆ นำเงินไปซื้ออะไหล่รถยนต์ และขยายธุรกิจรองรับปริมาณลูกค้าได้ไม่ยากลำบาก