"อักษรา" ชู "3ชุดความคิด" ลุยพูดคุยดับไฟใต้
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผย จัดทำ "3 ชุดความคิด" สำหรับพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯเรียบร้อยแล้ว ทั้งเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย การพัฒนาร่วมอย่างเร่งด่วน และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เตรียมส่งต่อให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่สร้างฉันทามติ ก่อนนำขึ้นโต๊ะพูดคุย คาดลดความรุนแรงลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
พลตรี บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยคำชี้แจงของ พลเอก อักษรา เกิดผล หัวคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย ว่า เหตุการณ์ด้านความมั่นคงที่ยังคงเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤศจิกายนนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยังคงเป็นฝ่ายริเริ่มก่อกวนในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการ คือ การปรับมาตรการระวังป้องกัน และเพิ่มการปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อจำกัดเสรีและลดขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยที่ฝ่ายรัฐต้องครองความมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ปฏิบัติการให้ได้ ทั้งในชุมชนเขตเมือง เส้นทางคมนาคม ชนบทป่าเขา และพื้นที่ชายแดน
โดยเวลาที่ผ่านมาเกือบ 12 ปีที่ฝ่ายรัฐได้ทุ่มเทความพยายามในการยุติเหตุความรุนแรงแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้กระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี ไปสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ให้หันกลับมาเห็นด้วยกับรัฐในเรื่องที่สามารถตกลงร่วมกันได้ เพื่อความสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ให้บังเกิดผลในพื้นที่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้การพูดคุยกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่ยังมองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างไปจากรัฐ
ทั้งนี้ คณะพูดคุยฯได้จัดทำชุดความคิดแล้วใน 3 ประเด็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย, เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาในพื้นที่ และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันก่อน โดยการจัดตั้ง "คณะทำงานเทคนิคร่วม" ที่ประกอบด้วยทุกฝ่าย ไปกำหนดแนวทางในประเด็นความร่วมมือให้ได้ภายใต้กรอบชุดความคิดดังกล่าว ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้ว จำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยในปีงบประมาณ 2559 คณะพูดคุยฯ ได้หารือขั้นต้นกับผู้อำนวยความสะดวก (ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน อาซิม จากมาเลเซีย) แล้ว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 รวมทั้งได้ประชุมคณะพูดคุยชุดใหม่ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน (ปรับคณะพูดคุยในส่วนของผู้แทนส่วนราชการ หลังเริ่มปีงบประมาณใหม่) โดยได้กำหนดกรอบแนวทางในการทำงาน และได้นำนโยบาย ข้อเน้นย้ำ ข้อห่วงใย และข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้สร้างความไว้วางใจให้ได้ก่อน และให้ความสำคัญต่อทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ทั้งเป็นกลุ่มติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ไม่ใช่การยอมรับเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เราเข้าใจกฎหมายสากลดี และการแก้ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทยที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยสนับสนุนกระบวนการพูดคุย เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และผลการพูดคุยจะถูกส่งผ่านชุดความคิดทั้ง 3 ประเด็นลงไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยต้องให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเท่านั้น จึงจะทำให้เหตุรุนแรงลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเชิงรุกของฝ่ายเราในการป้องกันเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ การทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง จำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจจนถึงขั้นเกิดความร่วมมือในประเด็นสำคัญที่สามารถสร้างเป็น "โมเดลความร่วมมือในพื้นที่" ให้สำเร็จก่อน ไม่ใช่โมเดลที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐ และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทุกพวก ทุกฝ่าย โดยมีภาคประชาชนให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ขอให้ทุกฝ่ายได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธีและได้รับการยอมรับในทางสากล และขอให้ภาคประชาชนพื้นที่ได้ร่วมกันปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยในพื้นที่ เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พลเอก อักษรา เกิดผล